เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ค่าเงินย่อมเปลี่ยนทิศทาง

REUTERS/Thomas White/Illustration/File Photo

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (21/5) ที่ระดับ 32.17/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/5) ที่ 32.14/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเปิดเผยว่า สหรัฐและจีนได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับกรอบการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจและการค้าแล้ว โดยทั้งสองประเทศได้ตกลงที่จะระงับการทำสงครามการค้าไว้ชั่วคราว นายมนูชินได้ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ว่า คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะงดเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไว้ก่อน หลังจากที่การประชุมเพื่อหารือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้นมีความคืบหน้าอย่างมาก นอกจากนี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การเปิดเผยข้อมูลครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่จีนและสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเกี่ยวกับผลการเจรจาหารือด้านเศรษฐกิจและการค้าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทำสงครามการค้าและตกลงที่จะบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อลดยอดขาดดุลการค้าที่สหรัฐมีต่อจีน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์ได้ปรับตัวอ่อนค่าลง ภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (23/5) ประจำวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2561 โดยกล่าวถึงความเห็นของคณะกรรมการว่า มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% พร้อมทั้งสนับสนุนว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเหนือระดับเป้าหมายนั้นเป็นผลดีต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะยาว โดยนักลงทุนมองว่ารายงานการประชุมดังกล่าวไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ประกอบกับในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐยกเลิกการประชุมสุดยอดกับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.90-32.27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.91/93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลของค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1755/58 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาด (18/5) ที่ 1.1775/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป หรือยูโรสแตท ออกมาเปิดเผยว่า ในเดือนมีนาคม ยูโรโซนมียอดเกินดุลการค้า 26.9 พันล้านยูโร ลดลงจากระดับ 28.5 พันล้านยูโรในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยยอดส่งออกเดือนมีนาคมลดลง 2.9% ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 2.5% นอกจากนี้ ยูโรสแตทยังระบุด้วยว่า ปริมาณการค้าภายในยูโรโซนลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองของอิตาลี โดยพรรค 5-สตาร์ มูฟเมนท์ ที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบัน และพรรคลีกที่มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ พยายามจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่ร่วมกัน โดยทั้งสองพรรคนี้ต่างก็ชูนโยบายประชานิยม และทั้งคู่มีความต้องการที่จะเรียกร้องให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ยกหนี้ 2.50 แสนล้านยูโร (2.94 แสนล้านดอลลาร์) ให้กับอิตาลี นอกจากนี้ประเด็นการเจรจาต่อรองในเรื่องการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมกับสหรัฐ ก็ยังคงไม่—-ทาง EU ไม่ได้เห็นด้วยกับมาตรการทางเลือก เพื่อยกเว้นการจัดเก็บภาษีโลหะ อีกทั้งยังไม่พอใจต่อการคุกคามจากสหรัฐ ตลอดระยะเวลาของการเจรจา นอกจากนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI)1 ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของกลุ่มยูโรโซนยังคงอยู่ในช่วงชะลอตัวและร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 55.5 และระดับ 53.9 ตามลำดับ ต่ำกว่าตัวเลขในเดือนที่ผ่านมาและที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1678-1.1827 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/5) ที่ระดับ 1.1714/16 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ทางด้านค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (21/5) ที่ระดับ 110.95/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (18/5) ที่ระดับ 110.74/76 เยน/ดอลลาร์ โดยกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมียอดเกินดุลการค้าเดือนเมษายนทั้งสิ้น 6.26 แสนล้านเยน (ประมาณ 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยยอดส่งออกในเดือนเมษายน ปรับตัวขึ้น 7.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ในตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนแข็งค่าในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความขัดแย้งประเด็นการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐ กับประเทศคู่ค้าและในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินเยนยังคงมีแรงซื้อจากนักลงทุนหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ยกเลิกการประชุมสุดยอดกับนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ส่งผลให้ค่าเงินเยนมีความเคลื่อนไหวระหว่างสัปดาห์ในกรอบระหว่าง 109.05-111.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (25/5) ที่ระดับ 110.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ