
กลุ่มเปราะบาง ที่เป็นคนพิการ 2.1 ล้านคน รับเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท วันแรก โดยไม่ต้องลงทะเบียน ถ้าไม่มีบัตร บัตรหมดอายุ ต้องทำอย่างไร
วันที่ 17 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ให้กับกลุ่มผู้พิการที่อยู่ในฐานข้อมูลกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งหมด 2.5 ล้านคน และส่วนใหญ่ลงทะเบียนผู้พิการพร้อมผูกบัญชีพร้อมเพย์กับบัตรประชาชนไว้แล้ว
ดังนั้น กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง สามารถใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวโอนเงินได้ทันที โดยไม่ต้องมีกรลงทะเบียนรับสิทธิเงินดิจิทัลผ่านแอปทางรัฐ
ทั้งนี้ การโอนเงิน 10,000 บาทให้กลับผู้ที่ได้รับสิทธิรอบแรก 14.5 ล้านคน กลุ่มผู้พิการจะได้รับวันแรกทันที 2.1 ล้านคน และหากมีการผูกบัญชีไม่ทันในรอบการโอน สามารถรอการโอนในรอบบัญชีถัดไป
คนพิการ 2.1 ล้านคน รับโอนเงิน 10,000 บาทวันแรก
สำหรับการจ่ายเงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต สำหรับกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.5 ล้านคน คนพิการ 2.1 ล้านคน จะได้รับเงินกลุ่มแรก เป็นวันแรกที่รัฐเริ่มโอนจ่ายเงิน
ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับเงิน 10,000 เฟสแรก แบ่งเป็นผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ เริ่มโอนตั้งแต่วันที่ 25-30 กันยายน 2567 เป็นการโอนเงินเข้าสู่ระบบพร้อมเพย์ที่เชื่อมเลขบัตรประชาชน โดยแบ่งโอนเฉลี่ยวันละ 4-5 ล้านคน ดังนี้
- วันที่ 25 กันยายน 2567 โอนเข้าบัญชีผู้ถือบัตรผู้พิการ 2.1 ล้านคน
- วันที่ 25 กันยายน 2567 ผู้ถือสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 0
- วันที่ 26 กัยายน 2567 ผู้ถือสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 1, 2, 3
- วันที่ 27 กัยายน 2567 ผู้ถือสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 4, 5, 6, 7
- วันที่ 30 กัยายน 2567 ผู้ถือสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 8, 9
รอบแรกรับเงินไม่ได้ รอจ่ายเงินซ้ำ 3 ครั้ง
ในกรณีที่จ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้แก่กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่
- ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567
- ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567
- ครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธันวาคม 2567
โดยเมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ
บัตรผู้พิการหมดอายุ รีบต่อภายใน 3 ธันวาคม 2567
โดยกระทรวงการคลังย้ำว่า ให้กลุ่มเปราะบาง ดำเนินการตรวจสอบบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชนว่ายังสามารถใช้งานได้หรือไม่ หรือหากยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ขอให้ดำเนินการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน และสำหรับคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการหรือบัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ ขอให้ดำเนินการทำบัตรหรือต่ออายุบัตรให้เรียบร้อยภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2567 เพื่อรับสิทธิตามโครงการดังกล่าว
เอกสารยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ
สำหรับประชาชนที่เข้าข่ายเป็นผู้พิการ สามารถไปดำเนินการทำบัตรประจำตัว โดยมีหลักฐาน ดังนี้
- บัตรประจําตัวประชาชน
- ทะเบียนบ้านของคนพิการ
- รูปถ่ายคนพิการ ขนาด 1 นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป
- เอกสารรับรองความพิการ
นอกจากนี้ยังต้องมีเอกสารหลักฐานของผู้ดูแลคนพิการ (เป็นผู้ซี่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันกับคนพิการ หรือเป็นผู้ดูแลคนพิการซี่งคนพิการอาศัยอยู่ด้วยตามความเป็นจริง) ประกอบด้วย
- บัตรประชาชนของผู้ดูแลคนพิการ
- ทะเบียนบ้านของผู้ดูแลคนพิการ
ขั้นตอนการทำบัตรผู้พิการ
- ยื่นคำร้อง
- ตรวจสอบหลักฐาน/ข้อเท็จจริง
- ถ่ายรูป
- ตรวจสอบความถูกต้อง
- มอบบัตรให้คนพิการ
สำหรับเงินช่วยเหลือเบี้ยความพิการจะได้รับ 800-1,000 บาทต่อเดือน ผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ยังมีสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองอื่น ๆ ด้วย