ภารกิจปิดทางฟอกเขียวแต้มบุญ แม่ฟ้าหลวงจับมือธุรกิจ ชูคาร์บอนเครดิต

แม่ฟ้าหลวง ปิดทางฟอกเขียวแต้มบุญ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และพันธมิตรธุรกิจ 25 องค์กร เสวนาการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล จะเป็นการปิดทางไม่ให้ธุรกิจเอกชนใช้เป็น “แต้มบุญ” ในการฟอกเขียวในอนาคต

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จัดเวทีเสวนา Mae Fah Luang Sustainability Forum 2024 หัวข้อ “ปลูกป่า ปลูกคน : ทางเลือก ทางรอด” ถือเป็นงานสัมมนาประจำปีของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล เลขาธิการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่ง ว่า “ตลอดระยะเวลา 36 ปีที่ปลูกป่าบนดอยตุง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ฟื้นฟูป่าได้ประมาณ 90,000 ไร่ สร้างอาชีพที่ดีแก่ประชาชนกว่าหนึ่งหมื่นคน และได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกว่า 419,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากกรมป่าไม้ และภาคีภาครัฐและเอกชน 25 องค์กร ที่ร่วมกับ 281 ชุมชน เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชุมชนกว่า 258,186 ไร่โดยมีเป้าหมายขยายโครงการไปยังป่าชุมชน 1 ล้านไร่ ภายในปี 2570 จากพื้นที่ป่าชุมชนทั้งหมด 6.8 ล้านไร่ในปัจจุบัน

“ในช่วงไฟป่าที่ผ่านมา คนไทยพากันหวาดกลัว PM 2.5 แต่เราพบว่าไฟป่าในป่าชุมชนที่ร่วมงานกันลดลงจากเฉลี่ย 22% เหลือเพียง 0.86% จึงพิสูจน์แล้วว่าชุมชนเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม สอดคล้องกับพระบรมราโชบาย ปลูกป่า ปลูกคน นี่จึงทำให้เห็นว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดี ตั้งแต่แก้ปัญหาหมอกควัน เพิ่มปื้นที่ป่า สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน และเอกชนได้รับคาร์บอนเครดิต”

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ยังตั้งข้อสังเกตว่าประชาคมโลกกำลังจัดมาตรฐานคาร์บอนเครดิตกันใหม่ โดยมีแนวโน้มการพัฒนาคาร์บอนเครดิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างประโยชน์แก่ชุมชนในป่า

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “นโยบายและแนวทางการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ” ว่า “ปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่อย่างเดียวที่เราพูดถึงแล้ว เพราะทุกวันนี้ธรรมชาติแปรปรวนมากและยากที่จะคาดเดา การที่น้ำทะเลร้อนขึ้นทำให้โอกาสการเกิดพายุไต้ฝุ่นมากขึ้นและรุนแรงขึ้นด้วยเช่นเหตุการณ์พายุยางิเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา”

ADVERTISMENT

ดร.พิรุณ กล่าวว่า ประเทศไทยเองก็ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงอนุสัญญาปารีสว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีการพัฒนาและออกพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย หรือที่เรียกกันว่า “กฎหมายโลกร้อน” ในปี 2568 โดยจะมีทั้งภาคสม้ครใจและภาคบังคับเพื่อให้ประเทศลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม

การลดก๊าซเรือนกระจกนั้น ทำได้ 2 แนวทางคือ การลดจากแหล่งปล่อยโดยตรงและเพิ่มการดูดกลับให้มากขึ้น ซึ่งป่าเป็นส่วนสำคัญในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่จะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 323 ล้านไร่

ADVERTISMENT

“ป่าชุมชน ยังเป็นโมเดลสำคัญที่เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อลดกระทบทางสิ่งแวดล้อม สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพื้นที่ป่าชุมชนเป็นพื้นที่สำคัญในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และผลกระทบ จากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นหรือภาวะโลกเดือด”

ดร.พิรุณ กล่าวตอนหนึ่งว่า มีการพูดกันว่าคาร์บอนเครดิต คือแต้มบุญของธุรกิจ

แม่ฟ้าหลวง ปิดทางฟอกเขียวแต้มบุญ

โดยในภาพรวมของประเทศไทย ผลจากการขยายป่าชุมชนและจากความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้ ประชาชนและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบำรุงรักษาป่าชุมชน ส่งผลให้ประชาชนกว่า 4 ล้านครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนโดยการเก็บหาของป่า ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่า 5 พันล้านบาท สามารถกักเก็บน้ำในดินและปลดปล่อยน้ำได้มากกว่า 4 พันล้านลูกบาศก์เมตร และที่สำคัญต้นไม้ในป่าชุมชนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่า 42 ล้านตันคาร์บอน

ด้านนายสมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฎิบัติงานพิเศษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในเวเสวนา หัวข้อ ปลูกป่า ปลูกคน : ทางเลือก ทางรอด โดยเล่าถึงที่มาของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ถึงป่าชุมชนที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำคาร์บอนเครดิตป่าไม้ co-benefits (ผลประโยชน์ร่วมกับชุมชน)

นายสมิทธิ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯคือดอยตุง ความรู้ทั้งหมด ปลูกคน ปลูกป่า การสงเสริมการศึกษา การใช้กลไกธุรกิจเพื่อสังคม ทุกมิติอยู่ภายใต้แบรนด์ดอยตุง โดยกว่าจะปลูกป่าที่ดอยตุงกลับมาได้ใช้เวลาเป็น 30 ปี เป็นงานร่วมกับหลายภาคส่วน โดยประเทศไทยได้ให้สิทธิ พ.ร.บ.กับป่าขุมชน ให้เข้ารวมดูแลป่าตามอำนาจกฎหมาย

โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดึงภาคีจากป่าชุมชน ภาครัฐบาล ภาคเอกชนเพื่อรวบรวมความรู้และทรัพยากรของแต่ละภาคีมาสู่รูปแบบคาร์บอนเครดิดป่าไม้คุณภาพสูงที่มีองประกอบหลักสองอย่าง คือ 1.สร้างโครงการตามมาตรฐานประเทศ ตรงตามมาตรฐานคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง โดยความสำเร็จมาจาก partnership จากภาคเอกชน ภาครัฐบาล และภาคชุมชน ซึ่งภาคชุมชนคือตัวกลางหลักที่ทำการดูลรักษาป่า

2. โครงการป่าชุมชนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เน้นเรื่องของ co-benefits (ผลประโยชน์ร่วมกับชุมชน) ทางมูลนิธิไม่เพียงแต่คำนึงถึงป่าไม้ แต่คำนึงถึงความเป็นอยู่ของชุมชน และความหลากหลายเชิงชีวภาพด้วย

นายสมิทธิ ระบุว่า ความรู้จากภาคเอกชนและงานวิจัยที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ทำร่วมกับพันธมิตร ได้สร้างประโยชน์สามอย่างหลัก ๆ ให้แก่ป่าชุมชนและสังคม 1. ข้อมูลจากดาวเทียมที่ GISTDA และ THAICOM เป็นข้อมูลที่ทำให้ป่าชุมชนรับรู้ว่าไฟป่ามาจากไหน และสามารถวัดความคืบหน้าของการลดไฟป่าของโครงการได้

2. กองทุนที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตั้งไว้แล้ว 70 ล้านบาทใน 4 ปีที่พ่านมา ทำให้ป่าชุมชนสามารถดูแลป่าในขอบเขตที่กำหนดมาและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

3.งานวิจัยและความร่วมมือของภาคเอกชนและรัฐบาล สร้างความเข้าใจด้านภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศมากขึ้น โดยได้มีการส่งมอบข้อมูลเหล่านี้ให้กับผู้ดูแลป่าชุมชน เพื่อให้สามารถบริหารความเสี่ยงเชิญความสูญเสียทางความหลากหลายเชิงชีวภาพ และเรื่องโคลนถล่มอย่างที่เพิ่งเกิดเมื่อสัปดาห์ที่พ่านมาในเชียงรายได้ดีขึ้น

ปัจจุบันนี้ยังมีความท้าทายในการสร้างโครงการเชิงการสร้างความเข้าใจระหว่างแต่ละภาคี เช่น การสร้างความเข้าใจของชุมชนในเรื่องการส่งคาร์บอนเครดิต ที่มาและการซื้อ และความท้าทายที่สองคือเรื่องนโยบาย ความชัดเจนของขอบเขต ซึ่งส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการวางแผน

ปิดทางฟอกเขียว-ไม่มีป่าไม่มีคาร์บอนเครดิต

นายรองเพชร บุญช่วยดี รองผู้อานวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวในเวทีเสวนาเดียวกันนี้ว่า “คาร์บอนเครดิตคือ สิ่งที่ได้จากการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งต้องพิสูจน์ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ และด้วยหลักการที่ได้การรับรองจากหน่วยงานหลัก เช่น T-VER นอกจากนั้นต้องการผู้ตรวจสอบที่ได้การรับรองอย่างน้อยด้วยมาตรฐาน ISO 14064 หรือ มาตรฐานสากลในการวัดปริมาณและรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

“หากมองอย่างง่าย ๆ คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกในทางเศรษฐศาสตร์ในการจูงใจและสนับสนุนให้เป้าหมายการลดและกักเก็บคาร์บอนเป็นจริงได้เร็วขึ้น”

“แต่ต้องระวังถึงการฟอกเขียวในทั้งฝั่งการผลิตและฝั่งการซื้อ โดยฝั่งการผลิตจะเป็นการคำนวณวัดโดยเกินกว่าความเป็นจริง ไม่มีการปลูกป่าจริง หรือไม่สามารถดูดกลับคาร์บอนได้จริง และในฝั่งการซื้อก็เป็นการซื้อคาร์บอนมาชดเชยโดยที่ไม่มีการลดก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงาน”

“การปฏิบัติที่ถูกต้องควรใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อทดแทนส่วนเหลือของก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรนั้นปล่อย ที่ไม่สามารถลดแล้วในทิศทางสู่เป้าหมาย Net Zero ดังนั้น คอนเซ็ปต์คาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการป้องกันการฟอกเขียวชองคาร์บอนเครดิต”

นายรองเพชร ยังกล่าวต่ออีกว่า คาร์บอนเครดิตมีสองรูปแบบ รูปแบบอันแรกเป็นแบบ reduction เช่น การใช้พลังงานทดแทน หรือ Biodiesel ส่วนการปลูกป่าหรือดูดกลับคาร์บอนจะเป็นรูปแบบที่สอง เป็นคาร์บอน sink หรือ คาร์บอน removal ซึ่งในอนาคตจะมีมูลค่าสูงกว่า เพราะในการกำหนด Net Zero จะใช้รูปแบบคาร์บอนเครดิตแบบนี้มากขึ้น

“ในส่วนของมาตรฐานประเทศไทย เราใช้ Standard T-VER ที่เข้ากับบริบทประเทศไทย และ Premium T-VER ที่เทียบกับ VERRA, Gold Standard และทำให้สามารถแลกเปลี่ยนกับโครงการ JCM ของญี่ปุ่น ทำคาร์บอนเครดิตจาก E-Bus ขายให้กับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาตรฐานหลักนี้ตั้งเพื่อให้สามารถอยู่บนตลาดคาร์บอนสากลและตาม Article 6.2, 6.4 Paris Agreement ซึ่งจะต้องเกิดการปรับบัญชีตอนมีการขายให้กับประเทศได้รับคาร์บอนเครดิต และประเทศที่ขายเพิ่มบัญชีการปล่อยก๊าซในจำนวนเท่ากัน”

นางปราณีย ราชคมน์ ประธานเครือข่ายป่าชุมชน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ผู้แทนชุมชน เล่าว่า “เมื่อก่อนต้องปกป้องป่า 500 ไร่สู้กับนายทุนนายหน้า เราบอกว่าไม่ไหวฉันทำไม่ได้ แต่เราไม่ย่อท้อ เราทำความเข้าใจกับชุมชนไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้ช่วยทุกคนดูแลรักษาป่าไว้ได้”

“หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชนก็ได้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ได้ศึกษาดูงานที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้เรียนรู้การวัดต้นไม้และการคำนวณต่าง ๆ

นอกจากความรู้ความเข้าใจแล้ว ชุมชนยังได้งบประมาณเพิ่มเติมในการดูแลป่า โดยบ้านร่องบอนได้มีการใช้งบประมาณในการจัดพิธีบวชป่าเลี้ยงผีขุนน้ำ ซึ่งเป็นการสืบสานวัฒนาธรรมชองชุมชน มีการทำฝายในพื้นที่แห้งแล้ง”

นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมให้ความเห็นว่า ในปีที่ผ่านมาอุณหภูมิของโลกได้สูงถึง 1.63 องศาเซลเซียสไปแล้ว แปลว่าสถานการณ์ปัจจุบันแย่กว่าที่เราคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งยิ่งเห็นได้ชัดเจนจากฤดูการที่เปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่ตามมาไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร โรคระบาดใหม่ ๆ ที่จะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต

“ทางบริษัทจึงไม่ได้มุ่งเน้นที่การลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังเน้นเรื่องการเตรียมรับกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของที่ตั้งโรงงานและชุมชนโดยรอบ ในมิติของทรัพยากรน้ำยังมีเป้าหมายที่จะคืนน้ำสู่ธรรมชาติให้ได้ 100% ภายในปี 2040 ซึ่งปัจจุบันดำเนินการได้เพียง 5% นับเป็นความท้าทายอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ”

ด้านสุศมา ปิตากุลดิลก ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายงานความยั่งยืนและบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.สผ.ตระหนักถึงภารกิจที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นับตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบัน ปตท.สผ.ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่า 2 ล้านตัน ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การนำก๊าซเหลือใช้กลับใช้ซ้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน และการใช้ renewable energy รวมถึงการปรับกระบวนการทำงานต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อย Greenhouse gas

“ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ปตท.สผ.ได้ร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวไปกว่า 160,000 ไร่ และปลูกกล้าไม้เพื่อทดแทนไปกว่า 60 ล้านกล้า ได้ปล่อยปูไปกว่า 6 หมื่นล้านตัว และปล่อยเต่าไปกว่า 13,000 ตัว”

117 ปี ธนาคารแห่งความยั่งยืน

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ WEALTH และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีเป้าหมายหลักคือการช่วย partner และลูกค้าในการลดก๊าซเรือนกระจก

ดร.ยรรยง กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแห่งแรกที่ประกาศเรื่องของ Net Zero ตามมาตรฐานของ Science Based Targets Initiatives (SBTi) โดยธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศเป้าหมาย 1) Net Zero 2050 โดยลูกค้าใน portfolio จะต้อง Net Zero ด้วย 2) การดำเนินงานของธนาคารไทยพาณิชย์ จะต้องถึง Net Zero ภายใน 2030 3) ธนาคารไทยพาณิชย์ จะปล่อย Sustainable Finance อย่างน้อง 1,500,000 ล้านบาท

ในส่วนของเป้าหมาย Net Zero ภายใน 2050 ของลูกค้าใน Portfolio นั้น ธนาคารไทยพาณิชย์สนับสนุนลูกค้าที่อยู่ในภาคส่วนพลังงานในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่พลังงานสะอาด โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้ปล่อยสินเชื่อพลังงานหมุนเวียนไปกว่า 200,000 ล้านบาท

ด้านธุรกิจ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีตัวแทนคือ สุมลรัตน์ ทวีกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท ยูนิชาร์ม (ประเทศไทย) จำกัด เสวนาบนเวที ตอนหนึ่งว่า บริษัทยูนิชาร์มปรับสินค้าหลายประเภทเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ผ้าอนามัย Sofy Natural Love ที่ลดการใช้สารฟอกขาว และลดการใช้พลาสติกในแพ็กเกจจิ้ง ผ้าอ้อมกันยุง กันไข้เลือดออก ที่ใช้ตะไคร้ที่เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ

มล.ดิศปนัดดา ดิศกุล

ภารกิจใหม่แม่ฟ้าหลวง

ในตอนท้าย ของเวทีเสวนา มล.ดิศปนัดดา กล่าวสรุป ภารกิจใหม่ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ว่า “ผมอยากจะถือโอกาสเล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทําต่อในปีต่อ ๆ ไป เรายังมุ่งมั่นที่จะลุยโครงการประชุมชนต่อในเฟสที่ 5 เราก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะทําประมาณ 150,000 ไร่ถึง 300,000 ไร่”

“ในขณะเดียวกันเราเองก็มีความคิดว่าวันนี้เราทําในพื้นที่ป่า เราอยากลงมาทําพื้นที่ราบบ้าง เราเห็นปัญหาของ PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากวัตถุเหลือใช้ทางการเกษตร เราเองก็กําลังทดลองว่าเราจะมีโครงการอะไรบ้างที่สามารถที่จะแก้ปัญหาจุดตรงนี้ได้”

มล.ดิศปนัดดา กล่าวว่า วันนี้เราปักธงไว้ที่โครงการไบโอชาร์ กําลังทดลองจะเริ่มทํา pilot scale ในพื้นที่ที่เรามีเครือข่ายที่เข้มแข็งอยู่ และกําลังมองหาพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพในการจัดการขยะที่จะใช้กระบวนการใช้ตําราแม่ฟ้าหลวงเข้าไปพัฒนาศักยภาพคนในพื้นที่ ที่จะให้สามารถที่จะบริหารจัดการขยะได้ดียิ่งขึ้น

มล.ดิศปนัดดา เปรียบเทียบว่า “ผมคิดว่าเป็น low hanging fruit (หมายถึงผลไม้ที่ห้อยต่ำ-เก็บผลไม้ที่อยู่ต่ำกว่าก่อน เพราะง่ายกว่าและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการพยายามเอื้อมไปเก็บลูกที่อยู่สูง) เราทำสิ่งที่เราสามารถดําเนินการได้ เรากําลังพูดถึงการทําให้คาร์บอนเครดิตของเราเข้าถึงมือของคนรายย่อย”

“เรากําลังพูดถึงการทํา utility token ซึ่งจุดนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราคิดว่ามีโอกาสมีความน่าสนใจและจะช่วยโปรโมทในเรื่องของการเทรด utility token โดยใช้คาร์บอนเครดิตที่มีความน่าเชื่อถือสูง เพื่อที่จะทำระบบมาตรฐานในประเทศ และป้องกันหรือช่วยทําให้กระบวนการในการทํา green washing หรือการฟอกเขียว เกิดได้ยากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กำลังจะตั้งยูนิตธุรกิจใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน ให้กับภาคเอกชนเราจะช่วยบริษัทเอกชนในการนํานโยบายหรือกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมาปฏิบัติให้เกิดผลที่แท้จริง