
“บี. บราวน์-เอสคูแลป อะคาเดมี่” ยกระดับบุคลากรการแพทย์ ดึงความเชี่ยวชาญเทคนิคการแพทย์ถ่ายทอดทักษะร่วมดูแลสุขภาพผู้ป่วย
วันที่ 26 กันยายน 2567 นายสายัณห์ รอย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “กว่า 19 ปีที่เอสคูแลป อะคาเดมี่ และบี. บราวน์ ประเทศไทย มุ่งมั่นพัฒนากิจกรรมด้านการศึกษาและการจัดฝึกอบรมแก่บุคลากรสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าการถ่ายทอดความรู้ ฟื้นฟูทักษะ อีกทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ได้ผลักดันความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุข ตลอดจนพันธมิตรภาคธุรกิจผ่านโครงการต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องและพัฒนาสุขภาพของผู้คนทั่วโลกต่อไป
เอสคูแลป อะคาเดมี่ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการศึกษาและการจัดฝึกอบรมด้านสาธารณสุขในกลุ่มบริษัท บี. บราวน์ ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้และทักษะให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายหลักในการเสริมสร้างองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อยกระดับการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้เอสคูแลป อะคาเดมี่ ดำเนินการพัฒนาความร่วมมือเพื่อปกป้องและพัฒนาสุขภาพให้กับผู้คน ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขและพันธมิตรกว่า 5 โครงการ ในหลากหลายกลุ่มการรักษาด้วยกัน

สำหรับโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการบริหารยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำส่วนกลางที่บ้าน : รามาธิบดีโมเดล ซึ่งเป็นความร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายและอัตราการครองเตียงในโรงพยาบาล รวมทั้งขยายขอบเขตการให้บริการไปยังโรงพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และยังได้จัดโครงการฝึกอบรมด้านศัลยกรรมประสาทผ่านร่างอาจารย์ใหญ่ ร่วมกับสถาบันประสาทวิทยา เพื่อฝึกอบรมและพัฒนาทักษะด้านศัลยกรรมประสาทให้กับแพทย์ประจำบ้าน โดยมีการฝึกการใช้เครื่องมือผ่าตัดจากศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในระบบประสาทไขสันหลัง
ทั้งนี้ จึงนำมาสู่ความร่วมมือที่สำคัญคือ การลงนามบันทึกความเข้าใจไตรภาคีร่วมกับสมาคมการระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน และการระงับปวดแห่งสหภาพยุโรป (ESRA) และโรงพยาบาลศิริราช เพื่อพัฒนาโครงการฝึกอบรมด้านการระงับความรู้สึกเฉพาะส่วน โดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์สำหรับวิสัญญีแพทย์ ซึ่งเป็นโครงการระดับภูมิภาคที่ได้รับการรับรองจาก EDRA และยังมีการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ด้านแผลออสโตมีและการควบคุมการขับถ่าย” ร่วมกับสมาคมพยาบาลแผลออสโตมีและควบคุมการขับถ่าย ในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้เข้ารับการรักษา เพื่อปกป้องและพัฒนาสุขภาพของผู้ป่วยที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังได้ขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตรทางธุรกิจผลักดันและพัฒนากิจกรรมทางการศึกษา โดยการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้งานการจัดการเครื่องมือทางการแพทย์ บรรจุภัณฑ์ และมาตรฐานงานปราศจากเชื้อภายใต้โครงการ “One Together : For Safety in Medical Device Reprocessing” ร่วมกับ บมจ. นำวิวัฒน์ เมดิคอล คอร์ปอเรชั่น เป็นการต่อยอดพื้นที่แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และขยายขีดความสามารถด้านงานเวชภัณฑ์ปลอดเชื้อสู่มาตรฐานระดับสากลอีกด้วย