บี้เก็บ VAT ช็อปออนไลน์ ตปท. “เฟซบุ๊ก”เจอหักรายได้15%

ขาช็อปออนไลน์สะอึก “คลัง-สรรพากร” จัดหนัก ! เก็บภาษี VAT สินค้าออนไลน์นำเข้าตั้งแต่บาทแรก ชี้สร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการไทย ประชาพิจารณ์เก็บภาษียักษ์โซเชียลมีเดีย ณ ที่จ่าย 15% หวังไล่ต้อนทุกกิจกรรมที่เกิดรายได้ในไทยเจอภาษีหมด ผู้ประกอบการหวั่นต้องแบกจ่ายภาษีแทนกูเกิล-เฟซบุ๊ก

เก็บ VAT สินค้าออนไลน์ ตปท.

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมสรรพากรกำลังพิจารณาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้าทางไปรษณีย์ จากเดิมที่มีการยกเว้นในกรณีสินค้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการภายในประเทศ

“เนื่องจากที่ผ่านมามีการยกเว้นภาษีศุลกากรให้สินค้าราคาไม่เกิน1,500 บาท ก็เลยผูกไม่เก็บ VAT ไปด้วย แต่เมื่อซื้อสินค้าในประเทศก็ต้องเสีย VAT ตั้งแต่บาทแรก แล้วทำไมสินค้านำเข้าไม่เสีย VAT จึงมีการเสนอปรับแก้ เรื่องนี้ต้องไปถามอธิบดีกรมสรรพากร” นายอภิศักดิ์กล่าว

ขณะที่การจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ กระทรวงการคลังมีแนวคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ แต่หากมีกิจกรรมที่ทำให้เกิดรายได้ในประเทศไทย ก็ควรต้องเสียภาษีเงินได้

“ปัจจุบันเรายังแตะไม่ได้ เอื้อมไปไม่ถึง ซึ่งไม่ได้เป็นเฉพาะประเทศเรา แต่เป็นแบบนี้ทุกประเทศ อย่างกลุ่มประเทศ OECD ก็หาทางแก้กันอยู่”

Advertisment

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมสรรพากรกำลังแก้ไขกฎหมาย เพื่อจัดเก็บ VAT จากสินค้านำเข้าผ่านไปรษณีย์ โดยจะยกเลิกการนำไปผูกกับเรื่องการยกเว้นอากรของกรมศุลกากร ดังนั้นก็จะเริ่มจัดเก็บ VAT สินค้านำเข้าทางไปรษณีย์ตั้งแต่บาทแรก ซึ่งจะเรียกเก็บจากผู้สั่งซื้อที่เป็นผู้รับของจากไปรษณีย์

“กำลังแก้กฎหมาย คือถ้าเราไม่ไปผูกกับกรมศุลกากร ก็เก็บ VAT ได้ แต่มูลค่าทั้งหมดจะเป็นเท่าไหร่นั้น ก็ไม่ทราบ เพราะยังไม่เคยเก็บ” นายประสงค์กล่าว

Advertisment

ทั้งนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซจากผู้ประกอบการนิติบุคคลต่างประเทศ ซึ่งหลังจากฟังความคิดเห็นเสร็จแล้ว จะสรุปเสนอ รมว.คลัง ภายในเดือน ก.ค.นี้

เก็บภาษี “ต่างชาติ” ทุกประตู

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า การยกเลิกการยกเว้นภาษี VAT สำหรับสินค้าอีคอมเมิร์ซที่สั่งซื้อจากต่างประเทศและส่งเข้ามาทางไปรษณีย์ที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท จะรวมอยู่ในร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ที่กรมสรรพากรอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นอยู่ในขณะนี้ โดยจะแล้วเสร็จในวันที่ 11 ก.ค. 2560 ซึ่งหลังจากนั้นทางกรมจะรวบรวมประเด็น และสรุป เสนอ รมว.คลังพิจารณาต่อไป

“กรมสรรพากรยกร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดที่ปัจจุบันไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศได้ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการในประเทศ”

ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดเก็บภาษีในกรณีต่างๆ ได้แก่ 1) กรณีนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ประกอบกิจการโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรนั้น ทั้งนี้ ต้องเป็นการประกอบกิจการในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1.มีการใช้โดเมนท้องถิ่นของไทย หรือ 2.มีการสร้างระบบชำระเงินเป็นสกุลเงินไทย หรือมีการโอนเงินจากประเทศไทย หรือ 3.กรณีอื่นตามที่อธิบดีกำหนด

หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

กรณีนิติบุคคลต่างประเทศมีรายได้ในประเทศไทย ที่ได้รับจากค่าโฆษณาออนไลน์ ค่าใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ หรือตามที่กฎกระทรวงกำหนด ทางกรมสรรพากรกำหนดให้ผู้จ่ายเงินให้แก่นิติบุคคลต่างประเทศดังกล่าว เป็นผู้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 15% ของเงินได้ และนำส่งกรมสรรพากร

แหล่งข่าวกล่าวว่า การหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากเงินได้ หากเทียบกับภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยที่เก็บ 20% จากกำไรสุทธิ กรณีแรกจะมีภาระภาษีสูงกว่า แต่ถือว่าเป็นไปตามหลักปฏิบัติตามมาตรา 70 ของประมวลรัษฎากร ซึ่งหักในอัตราเดียวกับค่านายหน้า ค่ากู๊ดวิว ค่าลิขสิทธิ์ ดอกเบี้ย ค่าเช่า หรือเงินจากวิชาชีพอิสระ ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการต่างชาติส่วนใหญ่จะให้ธุรกิจไทยที่เป็นลูกค้าโอนเงินเข้าไปบัญชีต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีนิติบุคคลได้ ดังนั้น จึงต้องใช้วิธีการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยจะกำหนดให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นช่องทางการชำระเงินทำหน้าที่ ดำเนินการในการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ให้

“กรมจะดูกิจกรรมที่เกิดรายได้ในประเทศไทยอย่าง อูเบอร์ ก็สามารถเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ อะไรที่มีกิจกรรมเกิดรายได้ขึ้นในประเทศไทย เราก็จะเอาหมด” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายที่กำลังรับฟังความคิดเห็นอยู่นี้จะกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างหรือให้บริการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าวเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษี VAT และมีหน้าที่เสียภาษี VAT ด้วย ซึ่งสามารถใช้ตัวแทนได้ ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากรจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่อไปในกฎหมายลูกอีกที

กรณีผู้ประกอบการต่างประเทศที่ขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่างหรือให้บริการผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นของผู้อื่นทางกรมสรรพากรก็ได้กำหนดให้ผู้ที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นนั้นเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการดังกล่าวยื่นคำขอจดทะเบียน VAT และเมื่อจดทะเบียนแล้วก็มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการด้วย

หวั่นคนไทยจ่ายภาษีแทนเฟซบุ๊ก

นายภาณุทัตเตชะเสน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมกเกอร์เอเชีย จำกัด และเจ้าของจิมมี่ซอฟต์แวร์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นโยบายการจัดเก็บภาษีด้วยการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำคัญอยู่ที่ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องพึ่งพาบริการของบริษัทต่างชาติในหลายประเภท อาทิ ค่าเช่าใช้บริการคลาวด์ ซอฟต์แวร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ค่าโดเมนเนมเว็บไซต์ต่าง ๆ ซึ่งหลายบริการจำเป็นต้องใช้ของต่างประเทศ เนื่องจากผู้ให้บริการในไทยยังไม่มีเทคโนโลยีที่ซัพพอร์ตได้ หรือต้องใช้เพื่อให้ซัพพอร์ตลูกค้าของบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น จึงอยากให้มองรอบด้านมากกว่าเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเดียว เพราะบริการของ 2 รายใหญ่อย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก ก็มีหลากหลายมาก

“เอกชนไม่ได้มีปัญหาเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ขณะนี้ยังไม่มีแนวปฏิบัติชัดเจน และไม่แน่ใจว่าภาครัฐได้มีการเจรจากับบริษัทต่างชาติต่าง ๆ แล้วหรือยังว่ายินยอมให้หักไว้ เพราะหากมีการหักค่าภาษี ณ ที่จ่าย จากจำนวนเงินที่โอนค่าบริการไปให้กับบริษัทเหล่านั้นแล้ว ไม่ว่าจะโดยธนาคารหรือเอกชนผู้ที่โอนเงินก็ดี แล้วกลายเป็นว่าบริษัทเหล่านั้นอ้างว่าได้เงินไม่ครบ ไม่ยอมทำธุรกรรมให้ตามที่ตกลงไว้ เราก็ต้องโอนเงินไปให้เพิ่ม หรือต้องเป็นคนควักเงินส่วนที่เป็นภาษีส่งให้สรรพากรแทน กลายเป็นว่าบริษัทคนไทยต้องมาจ่ายภาษีแทนให้กูเกิล เฟซบุ๊ก และทำให้ต้นทุนธุรกิจของผู้ประกอบการไทยสูงกว่าประเทศอื่น”

สมาคมหนักใจท่าที 2 ยักษ์ใหญ่

ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนนโยบายที่จะมีการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ ให้ผู้ประกอบการเสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่จำเป็นต้องหาโมเดลที่เหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายประเทศกำลังหาทางออกอยู่ โดยส่วนตัวมองว่าควรใช้วิธีเจรจาให้ยอมเข้ามาในระบบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าต่อไปการซื้อขายรวมถึงชำระเงินจะหันไปใช้ผ่านช่องทางของต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งกลายเป็นว่าค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยยังพอจะได้บ้างก็จะไม่ได้อะไรอีกเลย เพราะปัจจุบันค่าซื้อโฆษณาหรือบริการผ่านออนไลน์ก็จ่ายตรงผ่านไปยังบริษัทแม่ของโซเชียลเน็ตเวิร์กในต่างประเทศผ่านบัตรเครดิต

“เมื่อเห็นท่าทีของกูเกิลและเฟซบุ๊ก กับกรณีการกำกับบริการ OTT (แพร่ภาพและเสียงผ่านทางอินเทอร์เน็ต) ที่ กสทช.กำลังพยายามจัดระเบียบแล้ว ยิ่งเห็นว่าความหวังที่จะหาโมเดลจัดเก็บภาษีจากทั้งคู่ไม่ใช่เรื่องง่าย”

สำหรับมูลค่าการซื้อขายออนไลน์ผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ ปี 2559 อยู่ที่ราว 2.7 แสนล้านบาท ปีนี้น่าจะโตไม่ต่ำกว่า 30% ขณะที่ภาพรวมอีคอมเมิร์ซไทยทั้งหมดน่าจะอยู่ราว 2.5 ล้านล้านบาท

ในส่วนเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ปีนี้คาดการณ์ว่า จะมีมูลค่า 11,774 ล้านบาท โดยเฟซบุ๊กมีส่วนแบ่งงบฯโฆษณามากที่สุด ราว 2,711 ล้านบาท ยูทูบ 1,526 ล้านบาท

“อีเบย์” พร้อมให้ความร่วมมือ

นายบุญพันธุ์ บุญประยูร ผู้จัดการประจำประเทศไทยของอีเบย์ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มตลาดค้าปลีกรายใหญ่ระดับโลก กล่าวว่า เรื่องภาษีอีคอมเมิร์ซยังต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาล แต่พร้อมให้ความร่วมมือทางกฎหมาย ปัจจุบันผู้ค้าในอีเบย์ที่มียอดขายสูง ส่วนใหญ่จดทะเบียนนิติบุคคล มีการเสียภาษีในฐานะเป็นเอสเอ็มอีอยู่แล้ว และส่วนใหญ่เป็นการทำธุรกิจในรูปแบบการส่งออกจากไทยไปยังต่างประเทศ ซึ่งอีเบย์ได้มีการแนะนำผู้ขายบนอีเบย์อยู่เสมอว่า หากต้องการขายสินค้าในสหรัฐอเมริกา ควรกำหนดราคาสินค้าไม่เกิน 800 เหรียญสหรัฐต่อชิ้น เนื่องจากสหรัฐยังไม่เก็บภาษี

นางสาวณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น Buzzebees กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายออนไลน์มองว่า เรื่องการเก็บภาษี VAT จากสินค้าที่ส่งมาจากอีคอมเมิร์ซต่างประเทศ ที่ผ่านมาก็มีปัญหาการตีความเยอะ บ่อยครั้งสินค้าเหมือนกัน แต่จัดเก็บไม่เท่ากัน จึงต้องรอดูความชัดเจนและแนวปฏิบัติว่า ประกาศออกมาแล้วจะบังคับใช้ได้แค่ไหน อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ไม่กระทบกับภาพรวมการเติบโตของอีคอมเมิร์ซมากนัก แม้จะทำให้ชะงักบ้าง แต่อัตราการเติบโตที่ร้อนแรงจะยังทำให้ภาพรวมเป็นบวกอยู่ดี ส่วนความเหมาะสมในการจัดเก็บภาษีคงแล้วแต่นโยบายของรัฐที่จะผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลแค่ไหน

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้