ปลดล็อกปัญหา IP หนทางสู่ยุค 4.0 อย่างยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากประเทศไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมได้เอง การก้าวไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ก็ไม่พ้นจะเป็นได้เพียง “ผู้ซื้อ” เทคโนโลยีมาใช้ การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property : IP) จึงเป็นอีกรากฐานสำคัญ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในเวทีสัมมนา “ก้าวต่อไป digital IP : ทรัพย์สินทางปัญญาในยุคดิจิทัล” ได้เปิดมุมมองให้เห็นถึงปัญหาในการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย โดยเฉพาะ digital IP

“นิธิพัฒน์ สมสมาน” รองกรรมการผู้จัดการ The Monk Studios หนึ่งในผู้ผลิตแอนิเมชั่นแถวหน้าของไทยกล่าวว่าปัจจุบันมีเด็กรุ่นใหม่สนใจเรื่องการพัฒนาดิจิทัลแคแร็กเตอร์แต่มีปัญหาคือไม่มีที่พึ่งเมื่อเผชิญปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ตนเองพัฒนาขึ้น และเมื่อเกิดปัญหา สิ่งแรกที่เขาจะทำคือ แจ้งตำรวจท้องที่ แต่ตำรวจทำอะไรให้ไม่ได้ทำให้เกิดความท้อ และหมดกำลังใจที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ดังนั้นสิ่งที่อยากให้มีคือ หน่วยงานที่รับเรื่องเหล่านี้โดยตรงและหาทางเเก้ได้เลย ไม่ใช่ให้ต้องหาทางช่วยเหลือตนเอง ด้วยการโพสต์ร้องเรียนบนอินเทอร์เน็ตเพื่อให้เกิดการกดดันบนโลกโซเชียล

ขณะเดียวกัน แต่ละหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริม ควรจะจับมือทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยไปต่างประเทศ โดยเฉพาะการหาทางให้สถาบันการเงินเปิดทางให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นหลักค้ำประกันเงินกู้ที่จะนำมาใช้ต่อยอดธุรกิจได้

ด้าน “กิตตินันท์ อนุพันธ์” ประธานกรรมการ บริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น “เคลมดิ” กล่าวว่า การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งที่ดีเพราะเป็นเอกสารทางกฎหมาย แต่ปัญหาคือ “ซอฟต์แวร์” โดนตีค่าเป็นวรรณกรรม ทำให้ผู้ที่นำซอฟต์แวร์ซึ่งมีการจด IP แล้วไปปรับปรุงนิดหน่อยวางขายเป็นเวอร์ชั่นใหม่ ไม่มีความผิด เพราะถือว่าไม่ได้ทำซ้ำ

“ถึงมีการจด IP แต่การฟ้องร้องก็ยังใช้ไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นเจ้าของต้องปกป้องตนเอง วิธีของสตาร์ตอัพจะไม่ทำทั้งหมด เเต่ทำให้โปรดักต์ออกเร็วที่สุด และเพิ่มฟีเจอร์อีกเรื่อย ๆ และทำให้มีผู้ใช้เข้ามาในระบบมากที่สุดเพื่อยึดฐานลูกค้า สุดท้ายคน copy จะตายไปเอง วิธีทำงานในปัจจุบันก็คือถ้าคิดอะไรได้ก็จดลิขสิทธิ์ตามกฎกติกา เเต่ในทางธุรกิจก็ต้องเดินให้เร็ว ให้เขาตามไม่ทัน ซึ่งถ้ามองในแง่ดี คือ ถ้าไม่มีคน copy เราก็คงไม่ตื่นตัว”

ขณะเดียวกันด้วยช่องโหว่ของกฎหมายในหลายส่วน ทำให้สตาร์ตอัพไทยไปจดทะเบียนบริษัทในสิงคโปร์แทน และเมื่อคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ ก็นำไปจด IP ที่สิงคโปร์กันหมด

“เรามัวเเต่ไปจับว่าแกร็บผิดกฎหมาย เราทำออลไทยแท็กซี่เพื่อไปเเข่ง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปต่อต้าน เเต่ต้องมาคิดว่าจะทำยังไงให้บริษัทไทยจดทะเบียนในไทยและนักลงทุนยอมที่จะลงทุนกับบริษัทในไทย วันนี้เคลมดิเป็นสิงคโปร์ไปเเล้ว เนื่องจากต้องระดมทุนซีรีส์ บี ดังนั้นถ้าเราไม่ช่วยแก้กฎหมายหรือมีมาตรการที่จะช่วยเหลือจะไม่เหลือบริษัทไทย”

“กำพล โชคสุนทสุทธิ์” นายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องทำงานเชิงรุก โดยทำเวิร์กกิ้งกรุ๊ปทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยงานการศึกษา ผู้ใช้งาน และต่างประเทศ เพื่อที่จะรวบรวมประเด็นต่าง ๆ มาพิจารณาปรับปรุงกฎหมายไทยที่ยังไม่ทันสมัย

“สมาคมพยายามจะจัดเวิร์กกิ้งกรุ๊ปเพื่อช่วยกัน ขณะที่สตาร์ตอัพใหม่ ๆ ควรพยายามจะจับมือกับพาร์ตเนอร์ โดยสร้างดิจิทัลไปรวมกับแบรนด์เดิมที่แข็งแรง เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและนำไปจด IP ทำให้เราไม่มีศัตรู และให้เขาไปขายต่างประเทศ ซึ่งจะ win-win ทั้ง 2 ฝ่าย”

ด้าน “ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า การส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ intellectual property (IP) เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการสร้างรากฐาน

สตาร์ตอัพไทยให้แข็งแกร่ง ที่ผ่านมาดีป้าจึงมีมาตรการส่งเสริม ด้วย “depa IP voucher” เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ผู้ที่ต้องการจดสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากรวมถึง “depa-fund” เงินกองทุนสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น สนับสนุนให้ SME นำนวัตกรรมดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ การนำงานวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ และการเพิ่มศักยภาพพัฒนากำลังคนและบุคลากร

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่พยายามผลักดันให้มีการจด IP คือ 1.ซอฟต์แวร์ 2.ดิจิทัลคอนเทนต์ 3.ดิจิทัลเซอร์วิส 4.ฮาร์ดแวร์ 5.อุตสาหกรรมเทเลคอม โดยตั้งเป้าให้มีผู้จด IP ปีละ 50 ราย จากเดิมมีเพียงปีละ 20-30 ราย ขณะที่มีผู้จด IP ในระบบแล้วหมื่นกว่าราย ส่วนใหญ่เป็นด้านซอฟต์แวร์ประมาณ 3,000 ราย