มาริษ เผยไทยประท้วงอิสราเอล เหตุนำแรงงานเข้าพื้นที่เสี่ยงภัย วอนคนไทยเลี่ยงเดินทางไปตะวันออกกลาง จี้หน่วยราชการช่วยชะลออีกทาง
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเหตุการณ์มีการยิงจรวดเข้าไปในเขตประเทศอิสราเอล และทำให้คนไทยเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 1 ราย ว่า ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ
กระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้นิ่งนอนใจตั้งแต่เริ่มมีความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง กระทรวงการต่างประเทศ พยายามอย่างยิ่งที่จะชะลอการเดินทางของแรงงานไทยไปยังภูมิภาคดังกล่าว และกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เข้าใจดีว่าการเข้าไปทำงานของแรงงานไทย เพราะต้องการมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีกว่า
รมว.ต่างประเทศ เรียกร้องว่า อยากจะขอความร่วมมือทุกภาคส่วน รวมทั้งประชาชนไทยว่า ณ ขณะนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ไม่ใช่สถานการณ์ธรรมดา แต่มีความขัดแย้งรุนแรง ดังนั้นขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายและประชาชน ไม่เดินทางไปยังประเทศอิสราเอล และภูมิภาคตะวันออกกลาง
นายมาริษ กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดเหตุเสียชีวิตของแรงงานไทย สถานทูตได้ทำการประท้วงไปยังหน่วยราชการของอิสราเอล เนื่องจากพื้นที่ที่แรงงานไทยเสียชีวิตนั้น เป็นพื้นที่ ที่ทางการอิสราเอลประกาศเป็นพื้นที่ทางทหาร แต่มีความพยายามของนายจ้างชาวอิสราเอล ที่นำแรงงานเข้าไปทำงานเป็นการชั่วคราว ระยะสั้น 2-3 ชั่วโมง แม้จะเป็นระยะสั้นแต่ก็ไม่ทราบว่าจะมีการโจมตีเกิดขึ้นเมื่อใด
จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราได้รับข่าวร้ายและมีการสูญเสีย ที่สำคัญตนไม่ต้องการเห็นแรงงานไทยเสียชีวิตในภูมิภาคตะวันออกกลางอีก จึงขอให้หน่วยราชการไทย ร่วมกันช่วยชะลอการเดินทางเข้าไปทำงานของคนไทยในภูมิภาคดังกล่าว
เมื่อถามว่า ประเมินสถานการณ์แล้วมีความน่าเป็นห่วงใช่หรือไม่ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า สถานการณ์น่าเป็นห่วงแน่นอน กรณีการขยายตัวของสงครามมีแน่นอน แต่คงไม่อยู่ในระดับที่ไม่สามารถควบคุมได้ ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้นหรือมีการปะทะกันเป็นกรณี แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนที่ไม่ทราบเรื่อง
ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ จึงใช้กรณีนี้เรียกร้องรัฐบาลอิสราเอล ยุติการนำแรงงานไทยเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย หรือพื้นที่ ที่อิสราเอลประกาศเป็นพื้นที่ต้องห้าม
นายมาริษ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลแล้ว ในฐานะที่ประเทศไทย เพิ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (เอชอาร์ซี) เราจึงมีหน้าที่ต้องแสดงจุดยืนในเรื่องสำคัญ
จึงขอให้ช่วยใช้ความยับยั้งชั่งใจเพื่อพยายามป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวมากยิ่งขึ้น พร้อมขอให้ทุกฝ่ายหยุดการกระทำที่จะนำไปสู่การขยายตัวของสงคราม และต้องมานั่งเจรจาเพื่อหาทางยุติข้อขัดแย้ง บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติเป็นหลัก ทั้งนี้จุดยืนของไทยคือยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง