ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าหลัง ‘ทรัมป์’ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐตามคาด

ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าหลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐตามคาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 4-8 พฤศจิกายน 2567 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (4/11) ที่ระดับ 33.83/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/11) ที่ระดับ 33.90/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ภายหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 12,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี หรือนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 100,000 ตำแหน่ง

โดยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุเฮอร์ริเคนเฮลีนและมิลตันที่พัดถล่มสหรัฐ รวมทั้งการประท้วงของพนักงานบริษัทโบอิ้ง อีกทั้งกระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในดือน ก.ย. เป็นเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการปรับลงจากรายงานเดิมว่าเพิ่มขึ้น 254,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

นอกจากนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 46.5 ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2566 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47.6 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7

ทางด้านเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48.5 ในเดือน ต.ค. จากระดับ 47.3 ในเดือน ก.ย. ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 อย่างไรก็ตามในวันพุธ (6/11) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเทียบสกุลเงินหลัก หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐและนักลงทุนมองว่านโยบายด้านผู้อพยพ, ภาษีเงินได้ และการค้าของเขาจะกระตุ้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐ และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐให้พุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ผลการเลือกตั้งยังแสดงให้เห็นว่า พรรครีพับลิกันได้ครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า พรรคใดจะได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ทางด้านนักลงทุนคาดว่า ถ้าพรรครีพับลิกันได้ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐด้วยเช่นกัน พรรครีพับลิกันก็จะสามารถปรับแก้กฎหมายครั้งใหญ่ได้ ซึ่งจะส่งผลให้สกุลเงินแกว่งตัวอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ADVERTISMENT

ทั้งนี้นโยบายของนายทรัมป์อาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูงขึ้น และปัจจัยดังกล่าวอาจจะเป็นการจำกัดความสามารถของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลบวกต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับความเสียหายจากมาตรการด้านภาษีนำเข้าของนายทรัมป์คือเม็กซิโก, แคนาดา, จีน และยูโรโซน ซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 20 ประเทศ

โดยมาตรการของนายทรัมป์อาจจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศเหล่านี้ และจะยิ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของประเทศเหล่านี้ลดต่ำลงไปอีก ซึ่งจะส่งผลลบต่อสกุลเงินของประเทศเหล่านี้ตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร (8/11) ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25%

ADVERTISMENT

ในการประชุมล่าสุด โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ตามการคาดการณ์ของตลาด นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ หลังจากที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งขณะนั้นเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงใกล้ 0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ขณะที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุมว่า เฟดยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะดำเนินนโยบายการเงินเช่นใดในเดือน ธ.ค. แต่ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เฟดก็พร้อมที่จะปรับการประเมินนโยบายการเงินให้อยู่ในทิศทางที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี เขาระบุว่า ในระยะใกล้ ๆ การเลือกตั้งจะไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจด้านนโยบายของเฟด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ รมว.คลังกล่าวว่า แนวโน้มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 2.7% นั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้ว เป็นการเติบโตกว่าปีที่ผ่านมาถึง 30% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดและงบประมาณปี 2567 ที่ออกมาล่าช้า ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยอาจจะเน้นไปที่มาตรการกระตุ้นในระยะสั้นเป็นหลัก เพื่อให้คนที่มีปัญหายังสามารถอยู่รอดได้ ส่วนมาตรการระยะปานกลาง และระยะยาวนั้น ก็ต้องพิจารณาควบคู่ไปด้วย เพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ต.ค. ต่อปีสูงขึ้น 0.83% (YOY)

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้น 0.26% นับว่ายังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอยู่ที่ 1-3% โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อเดือนนี้มาจากการขึ้นสูงของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลและค่าไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี ราคาแก๊สโซฮอลล์ และน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงจากทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลก นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าเงินเฟ้อของปี 2567 ไว้ที่ระหว่าง 0.2-0.8% (ค่ากลาง 0.5%) โดยตัวเลขดังกล่าวนับว่าใกล้เคียงกับการประเมินของ ธปท. ที่มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 และ 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และ 1.2% ตามลำดับ พร้อมมองว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567

ทั้งนี้ ธปท.เผยทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเกิดความผันผวนจากความไม่แน่นอนเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยตั้งแต่ต้นปีเงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 0.42% ขณะที่การเคลื่อนไหวของเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายยังอยู่ในระดับปกติ ซึ่ง ธปท.ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.49-34.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/11) ที่ระดับ 34.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (4/11) ที่ระดับ 1.0872/74 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/11) ที่ระดับ 1.0858/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ หลังตัวเลขการจ้างและดัชนีภาคการผลิตสหรัฐต่ำกว่าคาด

นอกจากนี้ในวันจันทร์ (4/11) มีการเปิดเผยตัวเลขผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน จากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ และเอสแอนด์พี โกลบอล เพิ่มขึ้นแตะ 46.0 ในเดือน ต.ค. ซึ่งดีกว่าคาดการณ์เบื้องต้นที่ระดับ 45.9

แต่อย่างไรก็ดีบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจในภาคการผลิตของยุโรปยังคงอยู่ในภาวะหดตัวเป็นเดือนที่ 28 ติดต่อกัน แต่หดตัวในอัตราที่น้อยลง ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของเยอรมนีปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 40.6 ในเดือน ก.ย.มาอยู่ที่ 43.0 ในเดือน ต.ค. ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. แต่ยังคงบ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจในภาคการผลิตของเยอรมนีอยู่ในภาวะหดตัวเช่นกัน

ทั้งนี้ ในวันพุธ (6/11) ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างมากจากการที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า และการที่ทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะเก็บภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศหากเขาชนะเลือกตั้งและกล่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) จะต้องจ่ายภาษีอย่างมาก เนื่องจากซื้อสินค้าส่งออกจากอเมริกาไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในเยอรมนี หลังจากนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โซลซ์ ของเยอรมนีสั่งปลดนายคริสเตรียน ลินด์เนอร์ จากพรรคฟรี เดโมแครต (FDP) ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังในวันพุธ (6/11) โดยเป็นผลจากความขัดแย้งเรื่องทิศทางทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเยอรมนี โดยการสั่งปลดในครั้งนี้จะส่งผลให้รัฐบาลเยอรมนีกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ประกอบด้วยพรรคโซเชียล เดโมแครตของนายโชลซ์ และพรรคกรีนส์ ซึ่งเป็นพรรคที่ครองที่นั่งมากเป็นอันดับสอง

นอกจากนี้นายโชลซ์ยังวางแผนที่จะจัดการโหวตไว้วางใจในรัฐบาลของเขาในวันที่ 15 ม.ค.ปีหน้า และการโหวตดังกล่าวอาจจะส่งผลให้เยอรมนีต้องจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดก่อนสิ้นเดือน มี.ค.ปีหน้า ทางด้านยูโรสแตทเผยยอดค้าปลีกยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือน ก.ย. มากกว่า 0.2% ใน ส.ค. ทั้งนี้ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0681-1.0937 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/11) ที่ระดับ 1.0775/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันจันทร์ (4/11) ที่ระดับ 152.28/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (1/11) ที่ระดับ 152.77/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงจากตัวเลขการจ้างงานสหรัฐที่อ่อนแอ

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของดอลลาร์หลังรับข่าวผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้ค่าเยนร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ที่ 154.71 ต่อดอลลาร์ในช่วงสั้น ๆ ในวันพฤหัสบดี (7/11) ซึ่งร่วงลงอย่างมากจากระดับสูงสุดที่ 140.62 ที่ทำไว้ในกลางเดือน ก.ย. แม้เงินเยนอ่อนค่าจะช่วยหนุนการส่งออก แต่ก็เป็นปัญหาให้แก่ผู้กำหนดนโยบายของญี่ปุ่นเนื่องจากทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงและอาหารนำเข้าสูงขึ้น และกระทบการอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า การร่วงลงของเยนรอบใหม่อาจเพิ่มโอกาสให้บีโอเจดำเนินการในเดือน ธ.ค. เมื่อดูจากความอ่อนไหวของบีโอเจต่อการอ่อนค่าของค่าเงินที่ดันต้นทุนนำเข้าสูงขึ้น นอกจากนี้ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงในเดือน ก.ย. เป็นเดือนที่สองติดต่อกัน

ขณะที่ราคาที่เพิ่มขึ้นสกัดกั้นความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่น่าพอใจสำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่วางแผนจะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง 1.1% เมื่อเทียบรายปี และลดลง 1.3% เมื่อเทียบรายเดือนในเดือน ก.ย. ขณะที่ตลาดคาดว่าจะลดลง 2.1% และ 0.7% ตามลำดับ ทั้งนี้ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 151.27-154.71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/11) ที่ระดับ 152.52/53 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ