“ไทยคม” ดิ้นขอรัฐชัดเจน ย้ำจุดเสี่ยงหลุดวงโคจรธุรกิจ

ค้างเติ่งมาหลายสมัย ตั้งแต่สมัยกระทรวงไอซีทีเปลี่ยนรัฐมนตรีมากี่คนจนมาเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเคลียร์ปัญหาดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ได้จบ แถมยังลามมาถึงไทยคม 9 อีกต่างหาก

ปมปัญหาคั่งค้างกรณีไทยคมมาจากการที่หน่วยงานภาครัฐต้องการนำดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 กลับเข้าสู่ระบบสัมปทานเพื่อจัดเก็บค่าสัมปทานและค่าตำแหน่งวงโคจร ในขณะที่การประกอบกิจการธุรกิจโทรคมนาคมในปัจจุบันเดินเข้าสู่ระบบใบอนุญาตโดย กสทช.เรียบร้อยแล้ว

ในขณะนี้กิจการดาวเทียมในประเทศไทยจึงมีทั้ง 2 ระบบคู่กัน โดยไทยคม 4, 5 และ 6 ยังคงอยู่ในระบบสัมปทานที่ต้องจ่ายผลตอบแทนเป็นส่วนแบ่งรายได้รายปี (ในอัตรา 5-22%) ให้กระทรวงดีอี และกำลังจะสิ้นสุดสัญญาในปี 2564 ขณะที่ไทยคม 7 และ 8 ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.จึงจ่ายเฉพาะค่าธรรมเนียมใบอนุญาตราว 5% ของรายได้ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม)

ก่อนสิ้นเดือน มิ.ย.ไม่กี่วัน “ไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม ตัดสินใจออกโรงพูดถึงเรื่องนี้บ้าง โดยถึงกับเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาทั้งหมด หลังจากได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท เนื่องจากกรณีลูกค้ารายใหญ่อย่างซอฟต์แบงก์ขอยกเลิกสัญญาเช่าช่องสัญญาณไทยคม 9 ไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่ว่าไทยคมไม่สามารถให้ความชัดเจนในการยิงดาวเทียมดวงใหม่ได้ว่าจะทำได้ทันปี 2562 ตามที่ลูกค้าต้องการได้หรือไม่

“ซอฟต์แบงก์ใช้บริการไทยคม 4 อยู่ และอยากใช้บริการต่อจึงทำสัญญาซื้อช่องสัญญาณในไทยคม 9 เพราะไทยคม 4 กำลังจะหมดอายุในอีก 4 ปีข้างหน้า ดาวเทียมแต่ละดวงกว่าจะยิงขึ้นไปได้ต้องใช้เวลาเตรียมการนานกว่า 2 ปี ทุกอย่างต้องวางแผนล่วงหน้า ซึ่งซอฟต์แบงก์เองก็อยากมีเวลาเพียงพอในการย้ายทราฟฟิกจากไทยคม 4 มาไทยคม 9 จึงอยากให้เรายิงดาวเทียมขึ้นไปก่อนที่ไทยคม 4 จะหมดอายุ แต่เราก็ตอบเขาไม่ได้ดวงใหม่จะขึ้นทันตามเวลาที่เขาต้องการหรือไม่”

“ไพบูลย์” กล่าวต่อว่า ถ้าจะให้ลูกค้าให้บริการได้อย่างต่อเนื่องในไทยคม 4 และ 5 หลังสัมปทานหมดจะต้องเจรจาให้จบภายในปีหน้าเป็นอย่างช้า และจะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะนำรายได้จากต่างประเทศเข้ามา ขณะเดียวกัน วงโคจรดาวเทียมสื่อสารยังเป็นสิทธิให้มีการใช้งาน เป็นทรัพยากรโลกภายใต้การกำกับดูแลของไอทียู ซึ่งทุกประเทศมีสิทธิจองไปใช้ประโยชน์ภายในเวลาที่กำหนด ดังนั้น ถ้าไม่ใช้สิทธินี้ก็จะเสียไป ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นบริษัทพยายามเจรจากับภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ข้อยุติจึงส่งผลกระทบไปถึงไทยคม 9 ด้วย

“กรณีไทยคม 7 และ 8 ตั้งแต่กระทรวงไอซีทีจนมาถึงกระทรวงดีอี มีข้อสงสัยมาตลอดว่าจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอย่างไร ถ้ามีการใช้วงโคจร แม้รองนายกฯประจิน (จั่นตอง) จะเคยบอกแนวทางไว้ว่าควรแยกการแก้ปัญหาการเก็บรายได้ของดาวเทียมดวง 7 และ 8 ออกไปก่อน ส่วนดวง 9 ควรหาทางออกว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการจองวงโคจร เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะที่ใน พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ระบุว่า กสทช.มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องจองวงโคจร แต่ในทางกฎหมายไม่ได้ระบุถึงอำนาจว่าต้องเป็นใครในการไปจอง ทำให้ดีอี และ กสทช.ต้องมาคุยกัน”

ซีอีโอไทยคมย้ำว่า ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลในการกำกับดูแลธุรกิจดาวเทียมอาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการรักษาตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมที่เคยเป็นของประเทศ ในขณะที่บริษัทประสบความลำบากในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้องแข่งขันกับต่างชาติ เพราะธุรกิจนี้แข่งขันกับทั่วโลก ในต่างประเทศไทยคมต้องแข่งกันตลอดเวลา เช่นกันกับการให้บริการในประเทศไทยที่มีคู่แข่งต่างชาติพยายามที่จะเข้ามาเจาะตลาด และการสร้างดาวเทียมแต่ละดวงขึ้นมาต้องใช้เวลาและต้นทุนสูงมาก

“เราอยู่ในฐานะดาวเทียมของไทยที่ต้องแข่งกับทั่วโลกที่รอเข้ามาชิงเค้ก ดาวเทียมเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ, สังคม, การศึกษา และอื่น ๆ หลายประเทศมีโครงการดาวเทียมระดับโลกที่ให้บริการได้ทั่วโลก เทคโนโลยีมีการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกก็จะทำให้อีโคซิสเต็มทั้งหมดได้รับผลกระทบ รัฐควรดูแลนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ซึ่งก็อยู่ที่นโยบายภาครัฐว่ามองธุรกิจดาวเทียมอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม การออกมาพูดในจังหวะที่ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่เพิ่งประกาศใช้ของซีอีโอ “ไทยคม” หนนี้ก็ถือว่าเหมาะสม การกำกับดูแลกิจการดาวเทียมและวงโคจรเป็นประเด็นสำคัญที่คณะทำงานทบทวน พ.ร.บ.กสทช.กำลังพยายามหาข้อตกลงที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งใน พ.ร.บ.กสทช.ระบุว่า กสทช.จะเป็นผู้ประสานกับ ITU (สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ) แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้อนุญาตให้ใช้วงโคจร รวมถึงค่าธรรมเนียมในการใช้วงโคจรจะต้องจ่ายให้ใคร

ฟาก “ไทยคม” ระบุว่า ยินดีจ่ายค่าธรรมเนียมในการใช้วงโคจร แต่ถ้าให้กลับไปอยู่ในระบบสัมปทานที่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ต่อปี 20 กว่าเปอร์เซ็นต์เหมือนเดิมคงไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้

“สิ่งที่เราอยากเห็นคือขอให้เงื่อนไขที่ออกมาเป็นธรรมในแง่การแข่งขัน เพราะไทยมีดาวเทียมต่างประเทศเข้ามาเจาะยางตลอดเวลาด้วยการนำเสนอราคาที่ถูกกว่า เทียบกับประเทศอื่นไทยจ่ายค่าใบอนุญาตสูงสุด ถ้าจะสู้คู่แข่งได้ ต้นทุนเราก็ต้องสู้ได้ด้วย”