
นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นภาพใหญ่การทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยในภาพนี้ได้เชื่อมต่อการทำงานระหว่างรัฐบาลและเอกชนไว้ด้วยระบบการทำงานร่วมที่เรียกว่า “ประชารัฐ”
บทบาทการทำงานทั้งขบวนจะต้องประสานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ถึงเป้าหมายสร้างประเทศให้แข็งแกร่งหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลาง ไปสู่การเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขัน โดยในปีนี้ประเทศไทยมีความหวังว่าจะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย ขยายตัวได้อย่างน้อย 3.5%
ในส่วนขององค์กรภาคเอกชน โดยเฉพาะ “สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย” ถือเป็นหนึ่งในหัวจักรที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มาก แม่ทัพใหญ่อย่าง “” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งก้าวมารับหน้าที่ 3 เดือนแรก เล่าถึงการเดินหน้าตามนโยบายของคณะกรรมการหอการค้าไทย ภายใต้ธง Trade & Service 4.0 กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า
องค์ประกอบหลักของ Trade & Service 4.0 คือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม (Cultural Economy) และเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และหัวใจของ Trade & Service 4.0 คือเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy)
Focus 3 เรื่อง
โดยจะเน้น 3 เรื่องหลักในห่วงโซ่การผลิต (Value Chain) คือ 1) การค้าและการลงทุน (Trade & Investment) ซึ่งจะเน้นเรื่องอีคอมเมิร์ซ เรามีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับเว็บไซต์อาลีบาบาทำเทรนนิ่ง เน้นเรื่องการค้าชายแดน และการสร้าง 1 บริษัท เพื่อดูแล 1 วิสาหกิจชุมชน
2) เรื่องเกษตรและอาหาร (Agriculture & Food) ซึ่งจะสานต่อโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ที่อดีตประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ดำเนินการมาแล้ว และเริ่มแนวคิดใหม่นำเอาระบบดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้ต้นทุนถูกลง ขณะเดียวกันสามารถขายได้ราคาดีขึ้น และเรื่องการสร้างมาตรฐาน THAI GAP ซึ่งไทยเป็นเจ้าของ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของสินค้าเกษตรและอาหารได้ โดยใช้ระบบคิวอาร์โค้ด และการต่อยอดงานแสดงสินค้าอาหาร (ThaiFEX) ซึ่งไทยจัดร่วมกับโคโลญจ์ เมสเซ่ ประเทศเยอรมนี และกระทรวงพาณิชย์จัดต่อเนื่องมา 14 ปี โดยปีหน้าจัดทำแผนขยายพื้นที่จัดบูทเต็ม 2 ฮอล รวมพื้นที่ 100,000 ตร.ม. ถือว่าใหญ่ที่สุดในเอเชีย
และการจัดงาน Food Innovation Forum ครั้งที่ 2 เพื่อให้ผู้ผลิตนวัตกรรมมาพบกับผู้ใช้นวัตกรรม เพราะหากไทยจะเป็นผู้นำด้านอาหารของโลก จำเป็นต้องมีการพัฒนานวัตกรรมอาหารด้วย โดยขณะนี้มีสถาบันการศึกษาหลายสถาบันได้ผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมอาหารขึ้น และมีการสานต่อโครงการ 1 ไร่ 1 แสน แต่ขณะนี้กำลังจะต่อยอดไปอีกว่า ถ้าทำนา 1 ไร่ได้มากกว่า 1 แสน โดยอาจจะขยายไปปลูกผลไม้หรือพืชชนิดอื่นเพื่อเพิ่มมูลค่า และ 1 หอการค้า ดูแล 1 สหกรณ์การเกษตร เป็นโครงการต่อเนื่องที่มีสมาชิกเป็นตัวแทนชาวไร่ 1,000-6,000 รายต่อแห่ง
3) ด้านท่องเที่ยวและบริการ (Tourism & Service) ซึ่งจะเน้นในธุรกิจบริการด้านสุขภาพ (Health & Wellness) เรื่องอาหาร (Gastronomy Tourism) เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และดิจิทัล (Digital & Creative Tourism) ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการร่วมกับทางประชารัฐ จัดทำโครงการพัฒนาระบบออนไลน์บุ๊กกิ้ง (Online Booking) ที่ผ่านมาจะเห็นว่า นักท่องเที่ยวศึกษาข้อมูลการท่องเที่ยวจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แต่ไปจองโดยใช้บริการบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำระบบออนไลน์บุ๊กกิ้ง ซึ่งหากไทยทำขึ้นมาได้ โดยมีหอการค้าเป็นตัวหลัก มีสมาคมการค้าที่อยู่ห่วงโซ่ด้านการท่องเที่ยวซึ่งอยู่ในเครือข่ายเดียวกับเรา และเตรียมจัดประชุมเวที Service Innovation Forum ในช่วงปลายปี เพราะมีบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีนวัตกรรมแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่ตลอด จำเป็นต้องติดตาม และโครงการ 1 หอการค้า 1 แหล่งท่องเที่ยวชุมชน อยู่ระหว่างดำเนินการ
Economic Foundation
พร้อมกันนี้ หอการค้ายังจะเน้น Economic Foundation เน้นว่าจะประกอบธุรกิจอย่างไรให้ง่าย (Ease of Doing Business) เช่น เรื่องการแก้ไขปัญหาด้านการตรวจคนเข้าเมืองและสัญญาจ้างงาน (Immigration & Work Permit) ซึ่งสมาชิกในส่วนหอการค้าต่างประเทศกังวลเรื่องนี้มากว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนโปรเซสอย่างไรให้ง่ายขึ้น เรื่องขอ EIA/EHIA การยื่นขอใบอนุญาตของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และจัดทำจุดบริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ซึ่งพยายามจะผลักดันให้เกิดขึ้น เรื่องกฎหมายศุลกากรทำให้ง่ายขึ้น เรื่องการจัดระเบียบผังเมือง
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องช่วยภาครัฐในการเตรียมแนวทางการดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าจะขับเคลื่อนจริง ๆ ได้อย่างไร เรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ก็ต้องมาดูให้เป็นไปตามแผน เรื่องคณะทำงานสานพลังประชารัฐ
ลอนช์โครงการไทยเท่
ล่าสุดทางหอการค้าฯได้มีการหารือถึงการสร้างCultural Economy โดยลอนช์โครงการไทยเท่ โดยการดึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยออกมา และเพิ่มแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้าไป ทำอย่างไรให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับแต่ละท้องถิ่น โดยวิธีการจะแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ช่วยโปรโมตเพื่อกระตุ้นดีมานด์ เช่น กินเท่ เที่ยวเท่ ใช้เท่ ทำเท่ ของแต่ละจังหวัด สร้างกระแสประมาณ 10 เรื่อง
โดยล่าสุดหลังจากได้หารือระดับนโยบายท่านรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เห็นด้วย และมีความเห็นให้เพิ่มในส่วน “ประชุมเท่” หมายถึง การกระตุ้นให้่หน่วยงานต่างๆ ลงไปประชุมในจังหวัดไหนก็ควรจะมีการใช้จ่ายในงาน เพื่อสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นด้วย
บทบาทของหอการค้าจะไปดูแลด้านซัพพลายในห่วงโซ่บริการการท่องเที่ยวโดยจะยกระดับมาตรฐานผู้ประกอบการ เช่น ร้านอาหารจะมีมาตรฐาน ให้บริการอาหารที่สะอาด และอร่อย รวมถึงการสร้างเรื่องราวที่เป็นจุดขายให้ชุมชนด้วย
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้