ดร. คณิศ แสงสุพรรณ ประเมินทรัมป์ขึ้นภาษี เปลี่ยนเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประเมินผลกระทบขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ สะเทือนการเติบโตของ GDP นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจโลก

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และอดีตกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยแบ่งออกเป็นผลกระทบภายในประเทศสหรัฐ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก พร้อมเสนอแนวทางรับมือของประเทศต่าง ๆ

ดร.คณิศระบุว่า ผลกระทบภายในสหรัฐในระยะสั้น (1-12 เดือน) มาตรการขึ้นภาษีจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น การบริโภคหดตัว และกำลังซื้อของประชาชนลดลง เนื่องจากรายได้ที่แท้จริงลดลง ขณะที่ตลาดหุ้นอาจได้รับแรงกดดัน นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้จะทวีความรุนแรงขึ้น

มาตรการบรรเทาผลกระทบที่รัฐบาลสหรัฐอาจใช้ ได้แก่ การลดภาษีภายในประเทศ และการเร่งผลิตพลังงานเพื่อลดราคาน้ำมัน เพื่อช่วยลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจและผู้บริโภค

ในระยะกลาง อาจต้องใช้เวลา 8-12 เดือน กว่าที่สหรัฐจะสามารถเพิ่มการผลิตภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าได้ตามเป้าหมาย

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ดร.คณิศประเมินว่าการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐจะส่งผลให้การส่งออกของหลายประเทศลดลง ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตของ GDP ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ทั้งนี้ อัตราภาษีตอบโต้ของสหรัฐส่งผลกระทบต่อประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่างกัน เช่น ลาว (48%) ไทย (36%) จีน (34%) และสหภาพยุโรป (20%) ซึ่งอาจสร้างความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบหนัก

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ สินค้าที่เคยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ โดยเฉพาะจากจีน อินเดีย และสหภาพยุโรป อาจทะลักเข้าสู่ตลาดอื่นในปริมาณมากและราคาต่ำลง ซึ่งอาจนำไปสู่มาตรการตอบโต้เพื่อป้องกันสินค้าล้นตลาดในประเทศอื่น ๆ

สำหรับแนวทางรับมือของประเทศต่าง ๆ ดร.คณิศประเมินว่าจะมีหลายหลายแบบ อาทิ

ADVERTISMENT
  • คว่ำบาตรสินค้าอเมริกัน : ประเทศที่ได้รับผลกระทบ เช่น จีน อินเดีย สหภาพยุโรป และอาเซียน อาจตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรสินค้าจากสหรัฐ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า Tesla
  • เสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาค : หลายประเทศจะเร่งพัฒนา AFTA (เขตการค้าเสรีอาเซียน) และ RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและลดการพึ่งพาสหรัฐ
  • การผลักดันของกลุ่ม BRICS : จีนและชาติสมาชิก BRICS จะเดินหน้าสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจเป็นทางเลือกใหม่แทนระบบการค้าของสหรัฐ
  • WTO แบบไม่รวมสหรัฐ : อาจมีการผลักดันให้ WTO ทำหน้าที่กำกับดูแลการค้าโลกโดยไม่มีสหรัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพการค้าระหว่างประเทศ

ดร.คณิศสรุปตอนท้ายว่า มาตรการภาษีของสหรัฐ ภายใต้การบริหารของทรัมป์อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจโลก โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของตนเอง