
19 พฤษภาคม 2568 วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ครบ 102 ปี กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระเจ้าลูกยาเธอ ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ สมรสพระราชทาน กับหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดาใน “สมเด็จฯ วังบูรพา” สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช
พระประวัติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระมารดาคือ เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2423 สิ้นพระชนม์ วันที่ 19 พฤษภาคม 2466 เมื่อพระชนมายุได้ 43 ปี
กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เริ่มต้นชีวิคู่อย่างอย่างยิ่งใหญ่ สวยงามตามธรรมเนียมแบบเก่าและพิธีสมัยใหม่ ในเวลานั้น หนังสือราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2443 ความว่า…
“วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร ศก ๑๑๙ เวลาบ่าย ๕ โมง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมพระบรมวงษานุวงษ์ ที่พระที่นั่งจักกรีมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ พระราชทานแด่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ แลหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช เสร็จแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมราชินีนารถ แลพระบรมวงษานุวงษ์ทรงหลั่งน้ำสังข์ต่อไป…”
“…แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับโต๊ะเสวยพระสุธารศแลเครื่องว่าง พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนารถ แลพระบรมวงษานุวงษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำรัสพระราชทานพระพรศุภสวัสดิ์ แด่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ แลหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ตามสมควร ครั้นเวลาค่ำทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านข้างใน คือพระสัมพันธวงษเธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ๑ เจ้าจอมมารดาแพ ๑ กับท้าวนางเฒ่าแก่ พาหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ ขึ้นรถแต่ในพระบรมมหาราชวัง ไปส่งที่วังพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ ณ ตำบลสวนดุสิต แล้วเปนเสร็จการ”
1 เดือนหลังจากนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงบันทึกเกี่ยวกับการสมรสพระราชทานในครั้งนั้นไว้ว่า “วันที่ 20 มีนาคม 2443 มีงานราตรีสโมสรสมโภช พระองค์เจ้าอาภากร และหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ เนื่องในงานมงคลนั้น ที่วังบูรภิรมย์ เชิญทั้งคนไทย ฝรั่งชายหญิง มาประชุมกันเป็นอันมาก”
หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ ครองสถานะ “สะใภ้หลวง” ในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ แต่ทว่าธรรมเนียมของชายไทยสมัยรัชกาล ที่ 5 กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงมีหม่อมอีกหลายคนตามมา ได้แก่ หม่อมกิม หม่อมแฉล้ม หม่อมเพื่อน หม่อมเมี้ยน หม่อมแจ่ม หม่อมแม้น และหม่อมเดซี่
ทรงมีโอรส พระธิดาจากพระชายา และหม่อม 9 องค์ หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ พระชายา ทรงครองรักกับกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้8 ปี มีพระโอรส 4 พระองค์ หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ทรงถึงชีพิตักษัย ด้วยการปลงชีพพระองค์เอง เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม 2451 ต่อมาขานพระนามว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราบบันทึกไว้ในจดหมายราชกิจรายวัน มีความตอนหนึ่งว่า…
“วันนี้เวลาเช้า ๕ โมงเศษ หม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์ในกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์สิ้นชีพตักไษยเพราะเสวยยาพิศม์ เวลาค่ำโปรดให้กรมขุนสมมุต [พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมติอมรพันธุ์] เสด็จไปเยี่ยมสมเด็จกรมพระ [สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช] แลในเวลาค่ำวันนี้ได้มีการรดน้ำแลแต่งศพเหมือนอย่างที่ไว้ที่บ้าน แล้วแห่ศพไปฝัง ณ สุสานวัดเทพศิรินธร์ พระราชทานกลองชนะ ๑๐ จ่าปี ๑ ฉัตร เบ็ญจา ๑๒ คัน…”
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย เขียนไว้ว่า “เล่ากันว่า น่าจะมาจากสาเหตุที่พระสวามี ทรงยกย่องสตรีท่านหนึ่งกว่าหม่อมคนอื่น คือ หม่อมเดซี่ ซึ่งทรงเคยรู้จักสนิทสนมมาตั้งแต่ยังประทับอยู่ต่างประเทศ และเจ้าจอมมารดาของพระสวามี ก็ยังให้ความเอ็นดูกับหม่อมท่านนี้อีกด้วย ทำให้ทรงน้อยพระทัย ทางหาทางออกด้วยการปลงชีพพระองค์เอง”
กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้รับถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น “พระบิดาของกองทัพเรือไทย” และต่อมาได้แก้ไขเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2544 จากพระกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานและพัฒนาปรับปรุงทหารเรือสยามให้เจริญก้าวหน้าตามแบบประเทศตะวันตก
นักเรียนนายเรือพากันเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” นั้น พลเรือโท ศรี ดาวราย สันนิษฐานว่า มาจากการที่พระองค์ทรงขัดดาดฟ้าให้นักเรียนนายเรือใหม่ ๆ ที่ฝึกภาคทางทะเลบนเรือหลวงพาลีรั้งทวีปดูเป็นแบบอย่าง ใน พ.ศ. 2462 หลังจากที่ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนเหล่านั้นทำงานนี้ด้วยท่าทางเงอะงะเก้งก้าง โดยตรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า “อ้ายลูกชาย มานี่เตี่ยจะสอนให้” เป็นที่มาของคำเรียกขาน “เสด็จเตี่ย”
ในช่วงต้นรัชกาลที่ 6 กรมหลวงชุมพรฯ ทรงออกจากราชการซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “…กรมหลวงชุมพรฯ ไม่ทรงสบาย ได้รับพระราชทานพระบรามราชานุญาตออกเป็นนายทหารกองหนุนอยู่ชั่วคราว ๑ จนถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงเสด็จกลับเข้ามารับราชการเป็นตำแหน่งจเรทหารเรือ…”
ระหว่างที่ทรงอยู่นอกราชการ กรมหลวงชุมพรฯ ทรงหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นหมอยา ใช้พระนามว่า “หมอพร” ในช่วงนี้เองที่กล่าวกันว่า ทรงปราบนักเลงนางเลิ้งได้อยู่หมัด ได้นักเลงมาเป็นลูกน้องด้วย ช่วงเวลานี้กินเวลาราว 6 ปี พระองค์จึงได้กลับเข้ารับราชการกองทัพเรืออีกครั้ง หลังสยามประกาศสงครามกับเยอรมนี
เมื่อได้เสด็จกลับเข้ารับราชการทหารเรือและทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติราชการทหารเรือด้วยพระอุตสาหะวิริยะแล้วก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนพระยศเป็นนายพลเรือโท และนายพลเรือเอก ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอิสริยยศเป็น กรมขุนและกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ตามลำดับ กับได้โปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งบังคับบัญชากำลังพลเทียบเท่าตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในปัจจุบัน ก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรืออันเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการทหารเรือ
กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาพระองค์ที่มณฑลสุราษฎร์ ซึ่งเดิมมีชื่อว่า “มณฑลชุมพร” อันพ้องกับพระนามกรม และสิ้นพระชนม์ ที่มณฑลชุมพร เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2466 เป็นเวลา 102 ปีมาแล้ว
***ข้อมูลบางส่วนจาก หนังสือ เจ้าฟ้า เจ้าชาย ในพระพุทธเจ้าหลวง โดยศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย สำนักพิมพ์มติชน