
คอลัมน์ ASEAN SECRET โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ลาวในโลกศตวรรษที่ 21 กำลังอยู่ในช่วงปรับวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนา จนส่งผลต่อแบบแผนการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้มีลักษณะซับซ้อนขึ้น พรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้ตั้งเป้าว่า ในปี ค.ศ. 2020 ลาวต้องพ้นจากสถานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด พร้อมมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าปัจจุบันถึง 3 เท่า
ทว่าด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและการระดมเงินทุนภายในประเทศ เส้นทางแห่งความสำเร็จคงหนีไม่พ้นการพึ่งพิงพึ่งพาพลังลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งลาวก็มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และความก้าวหน้าในกระบวนการปฏิรูปประเทศเป็นปัจจัยดึงดูด นอกจากนั้น ลาวยังดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เสริมสร้างความร่วมมือแบบรอบด้านกับทุกรัฐ โดยไม่แบ่งแยกอุดมการณ์เพื่อขอรับการสนับสนุนและความช่วยเหลือในการพัฒนา
ลาวเคยจัดอันดับวงปฏิสัมพันธ์นานาชาติออกเป็นสองส่วนหลักคือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนาม และไทย กับ ประเทศร่วมอุดมการณ์ เช่น รัสเซีย และเกาหลีเหนือ แต่เนื่องจากลาวยุคใหม่ได้เข้าไปพัวพันทางเศรษฐกิจการทูตบนเวทีโลกมากขึ้น ผ่านเวทีอาเซียน (ASEAN) และองค์การการค้าโลก (WTO) พร้อมมีแผนกระชับสัมพันธ์กับมหาอำนาจอื่น เพื่อลดอิทธิพลรัฐเพื่อนบ้านและรัฐร่วมอุดมการณ์ลงบางส่วน ดังนั้น สปป.ลาวจึงเปิดกว้างด้านการต่างประเทศ จนค่อย ๆ แปลงสัณฐานเป็น “สปอตไลต์” ที่อยู่ในความสนใจจากทั่วทุกมุมโลก
สำหรับจีน การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติในลาว เช่น ป่าไม้ เหมืองแร่ พื้นที่เพาะปลูก และโครงการพลังไฟฟ้าจากเขื่อน พร้อมขยายเส้นทางโลจิสติกส์จากสิบสองปันนาเชื่อมหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ถือเป็นยุทธศาสตร์หลักในการขยายอำนาจภูมิรัฐศาสตร์ของจีนในเอเชียอาคเนย์ตอนบน
ผลที่ตามมาคือกำลังการลงทุนจากจีนที่พุ่งสูงขึ้นจนแซงหน้าเวียดนามและไทยโดยนับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 จีนได้เริ่มเข้าไปพัวพันกับลาวในระดับมหภาค อาทิ การสนับสนุนเงินทุนเพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ในเวียงจันทน์ และสนามกีฬาความจุ 20,000 ที่นั่ง ซึ่งรัฐบาลลาวใช้เมื่อคราจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ในปี ค.ศ. 2009 นอกจากนั้น จีนยังใช้กลไกความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Lancang-Mekong Cooperation/LMC) เป็นฐานเจาะตลาดลาว ซึ่งถือเป็นกรอบความร่วมมือที่แยกออกจากอาเซียน หากแต่อยู่ในวงเดียวกันกับอาเซียนบวกสาม
โดยวิสัยทัศน์หลักของ LMC คือ การให้จีนกับรัฐพันธมิตรลุ่มน้ำโขง ร่วมปฏิสัมพันธ์กันผ่านสามเสาหลัก ได้แก่ การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจการพัฒนา และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นกรอบโมเดลที่ตีคู่ขนานกับกรอบประชาคมอาเซียน (ASEAN Community/AC) ส่วนเวียดนาม ความได้เปรียบในสนามแข่งขันลาว อยู่ตรงที่ความสัมพันธ์ทางการเมืองที่แนบแน่นระหว่างกลุ่มผู้นำสองประเทศ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนก่อเกิดเป็นปฏิสัมพันธ์รูปแบบพิเศษที่ทางการลาวมักได้รับการสนับสนุนด้านงานพัฒนาการเมืองและความมั่นคงจากเวียดนาม
อนึ่งยังพบเห็นชุมชนเวียดนามมากกว่า80,000 คน อาศัยอยู่ในเมืองสำคัญต่าง ๆ เช่น เวียงจันทน์ หลวงพระบาง สะหวันนะเขต และปากเซ โดยชาวเวียดนามมักมีทั้งพวกเจ้าของโรงงาน พ่อค้าและผู้ประกอบการธุรกิจประเภทต่าง ๆ ทว่าด้วยเงินทุนบวกกับขนาดพื้นที่-ประชากรที่ยังตกเป็นรองจีน จึงทำให้อิทธิพลฮานอยเริ่มค่อย ๆ เสียดุลให้กับปักกิ่งอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะโครงการรถไฟจีนที่ลากผ่านลาว อาจทำให้กระแสทุนและวัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลสูงกว่าเวียดนาม
ขณะที่ความสัมพันธ์ลาว-ไทย พบทั้งโอกาสและอุปสรรคระคนกันไป กล่าวคือประวัติศาสตร์การทูตยุคสงครามเย็น ที่ทั้งสองประเทศต่างฝักใฝ่ค่ายอุดมการณ์การเมืองที่แตกต่างกัน ทั้งสหรัฐและโซเวียต บวกกับความขัดแย้งเรื่องเขตแดน เช่น ที่บ้านร่มเกล้าและเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ทำให้ความสัมพันธ์ทั้งสองรัฐมีลักษณะห่างเหิน เจือจาง
อย่างไรก็ตาม ด้วยความใกล้ชิดทางภาษา วัฒนธรรม และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน กลับช่วยผลักดันให้ไทยยังคงสามารถรักษาอิทธิพลบางส่วนไว้ในลาว เช่น การแพร่สะพัดของรายการโทรทัศน์และสื่อบันเทิงไทยในลาว หรือการข้ามแดนของคนลาวเพื่อเข้ามาซื้อของหางานทำในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองชายแดน อาทิ เวียงจันทน์-หนองคาย-อุดรธานี และท่าแขก-นครพนม
สำหรับญี่ปุ่น การกระชับสัมพันธ์กับลาวมีความจำเป็นต่อการคานอิทธิพลจีน ซึ่งญี่ปุ่นมักให้ความช่วยเหลือลาวทางการศึกษา สาธารณสุข และการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านโครงการมนุษยธรรม พร้อมอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนผ่านธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank/ADB) ตัวอย่างที่เด่นชัด คือ การสนับสนุนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor (EWEC) ที่เชื่อมสะหวันนะเขตเข้ากับมุกดาหาร
ส่วนปฏิสัมพันธ์ระหว่างลาวกับเกาหลีใต้ พบว่าพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอิทธิพลวัฒนธรรม กระแสนิยมเกาหลีใต้ในหมู่เยาวชนหนุ่มสาวลาว ทั้งภาพยนตร์ ละครซีรีส์ เครื่องสำอาง และจำนวนชาวเกาหลีใต้ที่เดินทางท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกในลาวมากขึ้น หากแต่ท่าทีของรัฐบาลลาวที่คอยส่งกลับกลุ่มสายลับเกาหลีเหนือ ซึ่งมักเดินทางผ่านลาว ก็มักสร้างความไม่สบายใจให้กับรัฐบาลโซล
มองไปทางอิทธิพลของออสเตรเลียในลาว แคนเบอร์ราได้พุ่งเป้าไปที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการปฏิรูปสภาวะแวดล้อม ที่ส่งผลต่อการลงทุนทางธุรกิจในลาว ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียเล็งเห็นว่า ลาวคือประเทศที่น่าลงทุน ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ พร้อมกันนั้นยังมีชุมชนคนลาวอาศัยอยู่ตามเมืองสำคัญ ๆ ของออสเตรเลีย เช่น ซิดนีย์ และบริสเบน ที่คอยเชื่อมประสานให้ทางการออสเตรเลียหันมาสนใจลงทุนในลาวเพิ่มขึ้น
สปป.ลาวได้กลายเป็นสปอตไลต์แห่งใหม่กลางกระแสโลกซึ่งเต็มไปด้วยการถาโถมของพลังลงทุนนานาชาติจนทำให้ลาววันนี้มีสถานะแตกต่างจากลาวในอดีต ซึ่งนอกจากจีน เวียดนาม ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลียแล้ว ฝรั่งเศส และรัสเซีย ยังเป็นอีกสองรัฐที่มีรากสัมพันธ์กับลาวผ่านประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคม และยุคสงครามเย็นตามลำดับ
ในขณะที่สหรัฐอเมริกา นับเป็นอีกหนึ่งมหาอำนาจที่แสดงท่าทีเข้ามากระชับสัมพันธ์กับลาว โดยการเยือนลาวของอดีต ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์การทูตลาว-สหรัฐ ที่เคลื่อนย้ายจากศัตรูมาสู่มิตร หากแต่ยังคงต้องจับตาดูท่าทีนโยบายของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อลาวและอินโดจีนต่อไป ว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงและความสืบเนื่องอย่างไร เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดก่อน
กระนั้นก็ดี แม้ลาวจะเริ่มจรัสแสงในยุคโลกาภิวัตน์ ทว่ายังคงมีความท้าทายที่รอให้รัฐลาวแก้ไขจัดสมดุลอยู่พอควร ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษและการจราจรติดขัดในเขตนครหลวงเวียงจันทน์ การสูญเสียอัตลักษณ์ท้องถิ่น ที่เริ่มถูกดูดกลืนโดยวัฒนธรรมต่างชาติ และจำนวนป่าไม้ที่ถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า
และนี่คือความท้าทายที่เป็นผลผลิตจากกระบวนการแปลงสัณฐานจาก”LandLockedState” เข้าสู่ “Land Linked State” จาก “Socialist State” เข้าสู่ “Capitalist State” และจาก “Isolated State” เข้าสู่ “Internationalized State” ซึ่งถือเป็นไตรลักษณ์ใหม่ของรัฐลาวในระบบโลก