เปลี่ยนให้ทันโลก

คอลัมน์ ถามมมา-ตอบไป สไตล์คอนซัลต์ โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการอำนวยการ สลิงชอท กรุ๊ป

แฟน ๆ ประชาชาติธุรกิจคงมีโอกาสได้ติดตามข่าวงานสัมมนาประจำปี ที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลายคนไปฟังด้วยตนเอง บางคนติดงานแต่ตามดูจากสื่อออนไลน์ไปแล้ว

วันนั้นผมได้รับเกียรติให้เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงของการเสวนาที่มีวิทยากรขั้นเทพ 5 ท่าน คือ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ (เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก), คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส (กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี), คุณฐากร ปิยะพันธ์ (ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์), คุณศุภชัย เจียรวนนท์ (ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์) และ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)) มาคุยให้ฟังในหัวข้อ “เปลี่ยน…ให้ทันโลก-New World, New Opportunity, New Business”

ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา เมื่อกูรูทั้ง 5 ท่านปรากฏตัวอยู่บนเวทีเดียวกัน

วันนี้ไม่ได้มาเล่าว่าใครพูดอะไร เพราะเชื่อว่าท่านผู้อ่านที่ติดตามเรื่องนี้ คงได้ยินได้ฟังกันไปแล้ว แต่ขอทำหน้าที่ถอดรหัสสิ่งที่วิทยากรทั้ง 5 ท่านพูดไว้ แม้แต่ละท่านจะมีพื้นฐานความรู้ ประสบการณ์ และหน้าที่ความรับผิดชอบต่างกัน ที่สำคัญพูดกันคนละหัวข้อ แต่ใจความกลับเหมือนกันราวกับนัดไว้

ทุกท่านเชื่อว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงช้าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงกัน ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เราแทบไม่มีการพัฒนา หรือลงทุนอะไรใหม่ ๆ ที่ใหญ่ ๆ เพิ่มขึ้นเลย เมืองไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมานานหลายปีแล้ว หากต้องการสลัดตัวเองให้หลุดพ้นจากพันธนาการนี้ ต้องให้ความสำคัญกับปัจจัย 5 ประการ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นวัตกรรม (Innovation)-ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม จริงอยู่แม้ไม่ใช่ทุกความคิดสร้างสรรค์จะกลายมาเป็นนวัตกรรมได้ แต่ทุกนวัตกรรมต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงผลักดัน

สิ่งที่น่าตกใจคือองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่ว่าภาครัฐ หรือเอกชนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแถบเดียวกัน ดูง่าย ๆ จากงบฯลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (Re-search & Development-R&D) จากข้อมูลของสภาวิจัยแห่งชาติ พบว่าในปี 2557 ประเทศไทยลงทุนด้านนี้ คิดเป็น 0.4% ของ GDP ในขณะที่เกาหลีใต้ 4% ญี่ปุ่น 3.6% ไต้หวัน 2.9% สิงคโปร์ 2.3% จีน 1.8% และมาเลเซีย 1.1% เป็นต้น

หากเรายังคงให้ความสำคัญกับการคิดค้น และประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ในระดับนี้อยู่ต่อไป อีกไม่เกิน 5 ปี ไทยจะกลายเป็นประเทศล้าหลัง เพราะเพื่อนบ้านแซงเราไปหมด

นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้เกิดจากการส่งคนไปอบรม ตั้งศูนย์การเรียนรู้ หรือมีป้ายรณรงค์พร้อมสโลแกนเก๋ ๆ แล้วจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นได้

การฝึกตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวต่างหาก จึงจะช่วยกระตุกความคิด และไอเดียดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้ เสียแต่ว่าคนไทยไม่ชอบตั้งคำถาม และไม่ชอบตอบคำถาม และนี่อาจเป็นคำตอบว่า เหตุใดคำถาม 4 ข้อของท่านนายกฯตู่ จึงไม่ค่อยมีคนตอบ !

เทคโนโลยี (Technology) – ทุกวันนี้ไม่มีใครไม่พูดถึงเทคโนโลยี ตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงเข้านอน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันอย่างมาก

“ดร.ชัชชาติ” เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 30-40 ปีที่ผ่านมา มนุษย์มีพัฒนาการมากกว่าเทคโนโลยี ปัจจุบันนี้สูสีกัน แต่ต่อไปในอนาคตอีกสัก 10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะฉลาดกว่ามนุษย์มาก ตอนนี้รถที่ไม่มีคนขับเป็นเรื่องธรรมดา อีกหน่อยขึ้นรถปุ๊บไม่ต้องป้อนโปรแกรม แค่คิดว่าจะไปไหน รถก็พาไปส่งให้ถึงที่ ไม่นานเราอาจได้เห็นประตูวิเศษแบบที่เคยดูในการ์ตูนโดเรม่อน

“คุณบอย” โกสิยพงศ์เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันคอมพิวเตอร์สามารถแต่งเพลงได้แล้ว ล่าสุดมีคนโหลดเพลงของวงเดอะบีเทิลส์ทั้งหมดที่มีเข้าไปในเครื่องปัญญาประดิษฐ์ (Artifician Intelligent) แล้วให้ลองแต่งเพลงออกมา ปรากฏว่าเครื่องสามารถแต่งเพลงใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลกใบนี้ออกมาได้ ทั้งยังมีท่วงทำนองและกลิ่นอายของเดอะบีเทิลส์ชนิดไม่มีผิดเพี้ยน

นักแต่งเพลงขั้นเทพอย่างเขาเริ่มรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ เพราะเกรงว่าในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์จะแย่งงานที่รักและทำได้ดีไปจากเขา

โลกเปลี่ยนไปเยอะและเร็วมาก แต่ประเทศไทยยังทะเลาะกันอยู่ว่า อูเบอร์ควรถูกกฎหมายไหม พร้อมเพย์ เมื่อสมัครแล้วจะถูกแฮ็กข้อมูลหรือเปล่า สรรพากรจะรู้ใช่ไหมว่าเราได้เงินมาเท่าไร และใช้จ่ายอะไรไปบ้าง ฯลฯ …หากยังว่ายเวียนอยู่ในวังวนเช่นนี้ แล้วเราจะไปแข่งกับใครได้

การใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Data Analytic) – ในอดีตเวลาติดปัญหา หาทางออกไม่ได้ มักได้ยินคำอธิบายสุดคลาสสิกว่า “ข้อมูลไม่พอ” แต่ทุกวันนี้โลกกลับตาลปัตร ข้อมูลมีอยู่ทั่วไป เรียกว่าล้นทะลักเลยเสียด้วยซ้ำ ใครบอกว่าข้อมูลไม่พอ ต้องโดนเขกหัวทันที ปัญหาทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า ข้อมูลที่มีมากเกินไป จนไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นจากตรงไหน ใช้ข้อมูลอะไร และจะหาประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) เหล่านั้นได้อย่างไรต่างหาก

การแข่งขันในโลกอนาคตจึงอยู่ที่ใครสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีได้มากกว่ากัน ในอดีตเราเชื่อว่าคนที่มีข้อมูลเท่านั้นคือผู้ชนะ (Information is King) แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ มีข้อมูลอย่างเดียวไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะข้อมูลหาง่าย ใคร ๆ ก็มี

หลายท่านคงใช้ Facebook เคยคิดแปลกใจไหมว่า ทำไมเขาให้ใช้ฟรี ไม่ต้องเสียเงินสักบาท ยอมให้เนื้อที่จำนวนมหาศาลเพื่อเก็บรูปและข้อความต่าง ๆ ที่เรา Post ขึ้นไปแบบไม่จำกัดจำนวน

Facebook ได้เงินจากไหน หลายคนบอกว่าได้จากค่าโฆษณา จริงครับ แต่โฆษณาจะมาไหม หากลงไปแล้วไม่ได้ผล

อันที่จริงธุรกิจหลักของ Facebook คือการขายข้อมูล เชื่อหรือไม่ว่าทุกวันนี้ Facebook รู้จักเรา มากกว่าเรารู้จักตัวเองเสียอีก รู้ว่าเราเพศอะไร ทำงานที่ไหน อาศัยอยู่ซอกใดบนโลกนี้ ชอบกด Like เรื่องอะไร บ่อยแค่ไหน สนใจทำอะไร เป็นเพื่อนกับใคร อารมณ์เป็นยังไง ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทั้งสิ้น

วิชาชีพที่องค์กรต่าง ๆ กำลังแย่งตัวกันอย่างจ้าละหวั่นในขณะนี้ ไม่ใช่บัญชี หรือการเงิน ไม่ใช่วิศวกร หรือสถาปนิก ไม่ใช่หมอ หรือพยาบาล แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล (Data Scientist) ซึ่งในประเทศไทยยังไม่เห็นมหาวิทยาลัยไหน ผลิตบัณฑิตด้านนี้ออกมาโดยตรงเลย

คุณภาพของบุคลากร (People) – ไม่ว่าเทคโนโลยีจะยอดเยี่ยมเพียงใด ระบบการทำงานจะสุดยอดขนาดไหน หากขาดซึ่งบุคลากรที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านั้นก็ดูไร้ค่า เครื่องจักรซื้อได้ เทคโนโลยีซื้อได้ แต่คนที่มีคุณภาพนี่ซื้อยาก คนเก่ง ๆ จากองค์กรหนึ่ง ย้ายมาทำงานอีกองค์กรหนึ่ง อาจไม่ประสบความสำเร็จเหมือนอย่างเดิม องค์กรที่จะชนะในอนาคตต้องให้ความสำคัญกับการสรรหา พัฒนา และรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพเอาไว้ให้ได้

ทุกวันนี้ค่านิยมในการทำงานของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป เด็กจบใหม่จำนวนไม่น้อยไม่อยากเป็นลูกจ้าง แต่อยากร่ำรวยและประสบความสำเร็จเร็ว พวกเขามี แจ๊ก หม่า, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หรือต๊อบ เถ้าแก่น้อย เป็นไอดอล

พ่อแม่ยุคใหม่ไม่สนับสนุนให้ลูกทำงานหนัก แต่ให้เลือกงานที่ทำแล้วมีความสุข ผลสำรวจล่าสุดพบว่าบัณฑิตปริญญาตรีจบใหม่ตั้งใจจะทำงานกับองค์กรต่าง ๆ ที่ละไม่เกิน 3 ปี สมัยก่อนตอนเริ่มทำงานใหม่ ๆ เจ้านายพาไปแนะนำให้รู้จักกับพี่ ๆ

ที่ทำงานกันมาคนละ 20-30 ปี ผมยกมือไหว้ด้วยความศรัทธาและชื่นชม แต่ทุกวันนี้พาเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน ไปแนะนำให้รู้จักพี่ ๆ ที่ทำงานมา 20-30 ปี น้องยกมือไหว้แล้วถามว่า…พี่อยู่ได้ไงคะ

โลกเปลี่ยนไปแล้ว ทัศนคติ และวิธีคิดของเราก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ไม่ใช่เพราะแบบเก่าไม่ดี เพียงแค่ใช้ไม่ได้ผลแล้วในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เท่านั้นเอง

ภาวะผู้นำ และวัฒนธรรมองค์กร (Leadership & Culture) – คนเก่ง ๆ ดี ๆ อยู่ไม่ได้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เพราะองค์กร แต่เป็นเพราะผู้นำในองค์กร ลองสังเกตดู หน่วยงานไหนคนออกบ่อย ส่วนมากเป็นเพราะหัวหน้าของหน่วยงานนั้นไม่มีทักษะเรื่องคน

งานวิจัยหลายสถาบันยืนยันตรงกันว่า “พนักงานเข้าทำงานเพราะองค์กร แต่ลาออกเพราะพฤติกรรมของหัวหน้างาน” ดังนั้นการพัฒนาภาวะผู้นำให้กับหัวหน้าทุกระดับเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็น เพราะจะช่วยรักษาคนเก่ง คนดีไว้ได้นานยิ่งขึ้น

แกลลัพ บริษัทวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกค้นพบว่า มี 12 ปัจจัยเท่านั้นที่ทำให้พนักงานรัก ผูกพัน และทุ่มเทให้กับองค์กร ทั้ง 12 ปัจจัยนั้นไม่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมของหัวหน้างาน และสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งสิ้น (สนใจศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติม ค้นหาคำว่า Gullup Q12)

นอกจากนั้น วัฒนธรรมขององค์กร ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จด้วยเช่นกัน ไม่ว่าวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์จะดีเพียงใด หากขาดวัฒนธรรมในการทำงานที่สอดคล้องกับทิศทางที่องค์กรกำลังเดินไป ยอมไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จเป็นแน่แท้

กูรูด้านการบริหารหลายท่านพูดไว้ตรงกันว่า “วัฒนธรรมกินกลยุทธ์เป็นอาหาร” (Culture eats strategies for lunch) หมายความว่า กลยุทธ์ดี ๆ ที่เสียเงินเสียเวลาในการเก็บข้อมูลและช่วยกันกำหนดขึ้นมา จะถูกวัฒนธรรมที่ไม่สอดคล้องขององค์กรค่อย ๆ กลืนกินกลยุทธ์เหล่านั้นไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น การใส่ใจสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้ปัจจัยอื่น ๆ ที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

ช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียงไม่กี่ชั่วโมงในการเสวนาวันนั้น ทำให้เห็นแง่คิด และมุมมองใหม่ ที่หลากหลายและคุ้มค่ามากจริง ๆ