ดึงแบงก์โปรโมตคลินิกแก้หนี้ พ่วงข้อมูลผ่านใบแจ้งยอดเริ่มส่ง ก.ย.

SAM โปรโมต “คลินิกแก้หนี้” ดึง 16 แบงก์แจ้งข้อมูลรับแก้หนี้ผ่าน “ใบแจ้งหนี้” ลูกค้า คาดเริ่ม ก.ย.60 แจงยอดอนุมัติลูกหนี้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 300 ราย จากผู้ยื่นขอรวม 1.8 หมื่นราย ผู้ว่าการ ธปท.แจงยอดอนุมัติน้อย เหตุต้องใช้เวลาตรวจคุณสมบัติ แถมมีลูกหนี้ของเจ้าหนี้น็อนแบงก์อยากร่วมวง ชี้รอแก้ กม.

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โครงการ “คลินิกแก้หนี้” หลังจากที่เปิดตัวโครงการดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 พบว่า ช่วง 2 เดือนแรกหลังเปิดโครงการ ลูกหนี้อีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ รวมถึงด้านการสื่อสาร และความไม่เข้าใจโครงการนี้มากนัก ดังนั้น SAM จึงได้ทำแผนดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงข้อมูลโครงการคลินิกแก้หนี้มากขึ้น โดย SAM จะมีการเข้าไปหารือกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ทั้ง 16 แห่ง เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์หรือโปรโมตโครงการดังกล่าวนี้

สำหรับวิธีการโปรโมตโครงการคลินิกแก้หนี้ จะทำโดยการใส่ข้อมูลโครงการคลินิกแก้หนี้ พ่วงในใบแจ้งหนี้ต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะมีทั้งใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต และใบแจ้งหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ส่งให้ลูกหนี้รายเดือน ทั้งทางจดหมาย และสื่อออนไลน์ ในกรณีที่ลูกค้ารับใบแจ้งหนี้ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยคาดว่าภายในเดือน ส.ค.นี้ การหารือร่วมกับทุกแบงก์น่าจะเสร็จสิ้น และจะเริ่มส่งข้อมูลโครงการผ่านใบแจ้งหนี้ได้ในเดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป

“เราเดินหน้าเข้าไปคุยกับแบงก์เกือบครบทุกแบงก์แล้ว ให้ช่วยใส่โครงการนี้เข้าไปในใบแจ้งหนี้รายเดือนด้วย เหมือนโฆษณาธนาคารต่าง ๆ ที่ส่งไปให้ลูกหนี้ ซึ่งก็ต้องส่งข้อมูลเหล่านี้ไปให้ลูกหนี้ที่ดีด้วย เพื่อจะได้ช่วยบอกต่อโครงการได้ ทั้งนี้ การทำแผนโปรโมตครั้งนี้สอดคล้องกับความกังวลของทางธปท. ที่มักเป็นห่วงเรื่องการเข้าถึงข้อมูล ตรงนี้ก็จะทำให้ลูกหนี้เข้าถึงข้อมูลโครงการได้มากขึ้น” นายนิยตกล่าว

นายนิยตกล่าวว่า สำหรับยอดผู้แสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีลูกหนี้ยื่นขอเข้าโครงการแล้ว 18,000 คน ในจำนวนนี้เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้ว ผ่านเกณฑ์เพียง 30% ซึ่งทาง SAM ได้ลงนามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ผ่านคุณสมบัติครบถ้วนไปจนถึง ณ สิ้นเดือน ก.ค. จำนวน 300 ราย หรือคิดเป็นวงเงินราว 90 ล้านบาท

“ลูกหนี้ที่เข้าโครงการส่วนใหญ่ มีมูลหนี้รวมเฉลี่ย 3-5 แสนบาทต่อคน โดยทั้งปีบริษัทตั้งเป้าเซ็นสัญญาแก้หนี้ให้ได้ราว 3,000 ราย” นายนิยตกล่าว

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้รับรายงานจาก SAM ว่า จะต้องใช้เวลาพอสมควรในการตรวจสอบคุณสมบัติลูกหนี้ที่ลงทะเบียนร่วมโครงการเข้ามา ซึ่งบางส่วนก็มีปัญหาในการติดต่อสื่อสาร นอกจากนี้ในจำนวนลูกหนี้ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ยังพบว่ามีลูกหนี้จำนวนหนึ่งมีเจ้าหนี้เป็นน็อนแบงก์ ที่ต้องรอการแก้ไขพระราชบัญญัติบริหารสินทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ขั้นกฤษฎีกาพิจารณา เพื่อเปิดทางให้ลูกหนี้น็อนแบงก์เข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้ได้ก่อน ซึ่งจะทำให้คลินิกแก้หนี้ครอบคลุมลูกหนี้กว้างขวางขึ้นต่อไป

วิรไท สันติประภพ

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ทำเพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการแก้ไขหนี้ในระยะยาว ไม่ใช่เป็นการกดปุ่มแล้วแก้หนี้ครัวเรือนได้แบบทันทีทันใด

“จากที่ SAM เล่าให้ฟัง ก็เห็นว่ามีคนสนใจเยอะ สมัครผ่านเว็บไซต์ แต่ถึงจุดหนึ่งจะต้องมีการตรวจสอบกระแสเงินสด เอกสาร ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะบางทีลูกค้าไม่ส่งเอกสารบ้าง ติดต่อกลับไปไม่ได้บ้าง บางทีติดต่อกลับไปแล้ว ลูกค้าไม่รับโทรศัพท์เพราะกลัวโดนตามหนี้ก็มี” นายวิรไทกล่าว

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่เข้าโครงการนี้ จะต้องเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน (บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล) ยอดหนี้ไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีเจ้าหนี้มากกว่า 2 แห่ง โดยเป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 พ.ค. 2560 ฯลฯ ซึ่งจะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งเงินต้นดอกเบี้ย การสร้างวินัยการเงิน