กทม.เดินสายรับฟังความคิดเห็นยกร่างผังเมืองใหม่

กทม.เดินสายรับฟังความคิดเห็นยกร่างผังเมืองใหม่-เอกชนแนะต้องสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติและอีอีซี

กทม.เปิดรับฟังความอีก 6 กลุ่ม จัดทำร่างผังเมืองกทม.ใหม่ คาดอีก 2 ปีครึ่งประกาศใช้ เอกชนแนะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ-ปริมณฑล

นางประภาพรรณ จันทร์นวล รักษาการผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า โครงการวางผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4 ) เป็นการจัดทำแผนแม่บทและมาตรการผังเมืองที่เหมาะสมในการทำโลจิสติกส์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญ ประโยชน์และโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากกการพัฒนาระบบโลจิสติกส์กรุงเทพมหานคร และนำมาใช้ในการจัดทำแผนแม่บทและมาตรการทางผังเมืองที่เหมาะสม

ปัจจุบัน กทม.มีโครงการระบบคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่และกิจกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นหลายโครงการ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินและจราจรในพื้นที่ กทม. สำนักผังเมืองจึงได้ดำเนินการโครงการว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บท และมาตรการทางผังเมืองที่เหมาะสมสำหรับระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“ต่อไปสำนักผังเมืองจะรับฟังความคิดเห็นด้านอุตสาหกรรม สินค้า ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม เกษตรและคมนาคม คาดว่าจะต้องรับฟังความคิดเห็นอีกประมาณ 30 ครั้ง จากนั้นจะสรุปให้กับคณะกรรมการที่พิจารณาผังเมือง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง คาดว่าจะประกาศใช้อีกประมาณ 2 ปีครึ่ง ถึงจะออกประกาศ พ.ร.บ.ได้ อีกทั้งกฎกระทรวงผังเมืองรวมจะไม่มีการหมดอายุ เพื่อลดช่องว่างให้สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ผิดประเภทได้” นางประภาพรรณกล่าว

ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า อยากให้การทำผังเมืองสอดคล้องกับ พ.ร.บ. ผังเมืองฉบับใหม่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12

“ต้องกำหนดว่าโพซิชันนิ่งของ กทม.เป็นอะไร จะเป็นเซ็นเตอร์บริหารจัดการภาครัฐหรือเอกชน คงไม่สามารถรวมทุกอย่างไว้ใน กทม.ได้ ฉะนั้นก็ต้องดูสิ่งเหล่านี้ด้วยว่า กำลังเกิดระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งมีจังหวัดใกล้เคียงกับ กทม. อย่าง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง ซึ่งจังหวัดเหล่านี้กำลังเปลี่ยน จะต้องมีการถ่ายโอนบางเรื่องที่มีภารกิจเดิมของ กทม. ให้กับจังหวัดที่เหมาะสมกว่า กทม.ยังไงต้องมีมิกส์ยูส อาจจะเป็นเชิงพาณิชยกรรมที่อยู่อาศัย การบริการ ในอนาคตคงไม่สามารถเป็นมิกส์ยูส เกษตรกรรม การที่จะเป็นแหล่งข้าว หรือผลผลิตเกษตร มันมีเรื่องแรงกดดันของมูลค่าที่ดินและเศรษฐกิจเข้ามา เพราฉะนั้นต้องวางผังเมืองให้สอดรับกับสิ่งพวกนี้ พร้อมทั้งบูรณาการกับจังหวัดใกล้เคียงเข้าด้วยกัน” นายอธิปกล่าวและว่า

นอกจากนี้ต้องบูรณาการกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในพื้นที่ต่างๆ การแก้ไขปัญหาจราจร ต้องมีการบริหารจัดการ กระจายตัวสู่ภายนอก ลดจราจร โดยข้อบัญญัติที่ควบคุมอาคาร ส่งเสริมให้ที่จอดรถให้เพียงพอไม่ให้มีมากเกินไป