เลิกประกาศ”ราคาอ้างอิง”ปาล์มน้ำมัน

คณะอนุกรรมการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันยอมเลิกประกาศ “ราคาอ้างอิง” แล้ว หลังจากเห็นว่าไม่ได้ประโยชน์เพราะไม่มีใครซื้อขายปาล์มในราคาที่อ้างอิงออกมา แต่ให้ออก “ราคาแนะนำ” แทน พร้อมเร่งกำหนดเกณฑ์ชดเชยค่าขนส่งให้ผู้ส่งออกผลักดันส่งน้ำมันปาล์มออกนอกประเทศ หวังลดสต๊อกสูงลิบที่ 400,000 ตันลงมาให้ได้ เตรียมพร้อมรับมือผลปาล์มทะลายรอบใหม่ช่วงปลายปีนี้

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาดว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและติดตามสถานการณ์ผลผลิตและราคาปาล์มน้ำมันเพื่อหาแนวทางในการดูแลและติดตามสถานการณ์ก่อนผลผลิตปาล์มจะออกสู่ตลาด (เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกษตรกร-ผู้ประกอบการ เบื้องต้นที่ประชุมพิจารณาจะประกาศราคาสำรวจเฉลี่ยจากพื้นที่แต่ละจังหวัดเป็น “ราคาอ้างอิง” ในการซื้อ-ขายปาล์มน้ำมันโดยจะไม่มีการประกาศ “ราคาแนะนำ” เพื่อเป็นเกณฑ์อ้างอิงซื้อขาย

การประกาศราคาแนะนำซื้อ-ขายปาล์มน้ำมันเดือนละครั้งนั้น ที่ประชุมเห็นว่า ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรหรือผู้รับซื้อปาล์มน้ำมันแต่อย่างไร เนื่องจากการประกาศราคาแนะนำออกมาช้าเพียงเดือนละครั้ง ประกอบกับเมื่อซื้อ-ขายผลปาล์มน้ำมันจะซื้อตามราคาตลาดและตามความเป็นจริง “ไม่ได้มีการซื้อ-ขายตามประกาศราคาแนะนำ” เพราะสถานการณ์ตลาด-ราคามีปัจจัยเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ทำให้การซื้อขายไม่ได้เป็นไปตามราคาประกาศแนะนำมากนัก ดังนั้น ที่ประชุมเห็นว่าอาจจะใช้การประกาศราคาสำรวจเฉลี่ยต่อวันเป็นราคาอ้างอิงในการซื้อ-ขายปาล์มน้ำมันแทน

“เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและเป็นไปตามความเป็นจริงของตลาด ณ เวลานั้น จึงจะใช้การประกาศราคาสำรวจเฉลี่ยในแต่ละพื้นที่ที่มีการรับซื้อเป็นเกณฑ์อ้างอิงให้กับเกษตรกร ผู้รับซื้อ ซึ่งจะสอดคล้องราคาตลาดจริง และให้เกษตรกรพิจารณาได้ว่าจะนำไปขายที่ไหนดีและรับซื้อในราคาที่สูงเป็นไปตามคุณภาพ” นายบุณยฤทธิ์กล่าว

ทั้งนี้ การพิจารณาราคาแนะนำของคณะทำงานกำหนดราคาแนะนำผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มจะใช้ข้อมูลที่ได้จากผู้รับซื้อ โรงงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวบรวมส่งข้อมูลราคาปาล์มน้ำมันในแต่ละตลาดในแต่ละพื้นที่ เช่น สุราษฎร์ธานี-ชุมพร มาให้พิจารณาก่อนประกาศราคาแนะนำ

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการได้พิจารณาหลักเกณฑ์การได้สิทธิการ “ชดเชย” ค่าขนส่ง ซึ่งก็เป็นไปตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับผู้ประกอบการที่จะส่งออกน้ำมันปาล์มจะสามารถสรุปได้เร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถแข่งขันและผลักดันส่งออกน้ำมันปาล์มไปได้ โดยเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการก็คือ การลดสต๊อกน้ำมันปาล์มที่มีอยู่ตั้งแต่ต้นปี 2561 ปริมาณ 400,000 ตันลงมาให้ได้ “ปัจจุบันสต๊อกน้ำมันปาล์มลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการส่งออกน้ำมันปาล์มของผู้ส่งออกและการใช้ B20 ประกอบกับช่วงนี้ผลผลิตยังไม่ออก ทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยสต๊อกน้ำมันปาล์มภายในประเทศที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 250,000 ตัน” นายบุณยฤทธิ์กล่าว

ด้านเกษตรกรชาวสวนปาล์มยังได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศเรื่องของมาตรฐานโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ให้สกัดน้ำมันปาล์มที่ 18% เพื่อให้ได้น้ำมันปาล์มที่มีคุณภาพ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างไร แต่จะนำไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เกษตรกรต้องการให้หน่วยงานของภาครัฐเร่งดำเนินการก็คือ การออกประกาศมาตรฐานโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบให้สกัดปาล์มน้ำมันที่ 18% เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ตรงกันและเกษตรกรจะได้สร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ และปัจจุบันเกษตรกรก็ทำเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มที่สูงอยู่แล้ว ขณะที่ต้นทุนราคาปาล์มน้ำมันของเกษตรกรอยู่ระหว่าง 3.80-4.20 บาท/กิโลกรัม “ซึ่งเป็นราคาที่สูง” แต่ราคารับซื้อขณะนี้แต่ละพื้นที่การซื้อขายต่างกันไป เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3.10-3.20 บาท/กก.