มติเอกฉันท์ สนช. รับรอง พ.ร.ก.ประมง เป็นพระราชบัญญัติ

มติเอกฉันท์ สนช. รับรอง พ.ร.ก.ประมง เป็นพระราชบัญญัติ “บิ๊กฉัตร” แจงเหมาะสม หลังสมาชิกหวั่นกระทบประมงพื้นบ้าน

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธาน ได้มีมติ 200 คะแนน และงดออกเสียง 4 ให้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ที่ ครม.เสนอให้ใช้บังคับเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อไป ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงเหตุผลว่า เนื่องจาก พ.ร.ก.การประมงปี 2558 มีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพการทำประมงพื้นบ้าน และการประมงพาณิชย์ ทั้งหลักเกณฑ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมงและการขนถ่ายนำเข้าสัตว์น้ำ และการแจ้งข้อมูลการเข้าเทียบท่าของเรือประมง รวมถึงมาตรการในการคุ้มครองแรงงานในภาคการประมงยังไม่เหมาะสม จึงสมควรปรับปรุงบทบัญญัติ ซึ่งส่งผลต่อการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์และบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม ทำการประมงได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังปรับปรุงบทลงโทษ มีโทษปรับทางอาญาในการป้องกันระงับ และยับยั้งการกระทำผิด ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางทรัพยากรสัตว์น้ำและการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ อีกทั้งการออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ก็สอดคล้องกับเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 26

จากนั้นสมาชิก สนช. หลายคนได้อภิปรายสนับสนุนหลักการร่าง พ.ร.ก.พร้อมทั้งแสดงความห่วงใยถึงผลกระทบของของผู้ทำประมงพื้นบ้าน เรือที่ทำผิดกฎหมายจะดำเนินการช่วยเหลือเยียวอย่างไร โดยนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า เพื่อให้การควบคุมการประมงให้สมบูรณ์ อยากให้ตรวจสอบย้อนกลับ ถ้าคุมหัวแต่ไม่คุมท้ายก็แก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและกรมประมงได้คุมเรือ ท่าเทียบเรือ แต่ถ้าขาออก การบริโภคภายในประเทศ การส่งออก ด่านกรมศุลกากร แต่การส่งออกที่ผ่านตามชายแดนทางรถ ถ้ามีการควบคุมให้ดีก็จะแก้ไขปัญหาได้ ถ้าสินค้าขึ้นมาแล้วไม่มีทางไปก็ไปไม่ได้อยู่ดี เรื่องนี้ได้ปรึกษากับรัฐมนตรีและอธิบดีหลายครั้งแล้วให้ทำเป็นรูปธรรม ถ้าสามารถจดทะเบียนผู้ประกอบการประมงทั้งหมดได้ทั้งนำเข้าและส่งออก จากนั้นก็ส่งรายชื่อไปยังกรมศุลกากร และด่านทั้งหมด เชื่อว่าจะควบคุมได้ทั้งหมด เพราะไม่ได้ลิดรอนสิทธิ์ใครเพราะเป็นไปตามกฎหมาย เพราะปัจจุบันนี้มีพวกค้าขายโฉบไปโฉบมาเยอะมาก โดยเฉพาะต่างชาติเปิดซื้อขายและส่งออกไปดื้อ ๆ ซึ่งจุดนี้จะเป็นปัญหา สิ่งที่หนักใจคือการบริโภคภายในประเทศจะคุมอย่างไร ดังนั้น จึงเชื่อว่าถ้าคุมที่หัวได้ หางก็จะคุมได้ การออก พ.ร.ก.ทั้งสองฉบับไม่ใช่เพื่อไอยูยูอย่างเดียว แต่ยังสร้างความยั่งยืนการประมงไทยด้วย

ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย ชี้แจงว่า ปัญหาใบเหลือง ใบแดง ตนไม่ให้ความสำคัญหรือสนใจ แต่ให้ความสำคัญการทำประมงให้เกิดความยั่งยืน ลูกหลานเราในอนาคตข้างหน้าจะต้องมีอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ และการทำประมงต้องทำอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา ต้องทำให้การประมงพื้นบ้านมีความเหมาะสม รวมถึงประมงพาณิชย์ต้องเป็นที่ยอมรับของสากล เชื่อว่าแนวทางการทำประมงอย่างยั่งยืนของไทยน่าจะเป็นแนวทางเช่นเดียวกับอียูเหมือนกัน