คลังมึนเอกชนอุทธรณ์ประมูลเป็นพันเรื่อง-ฉุดเบิกจ่ายต่ำเป้า

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานประธานคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างฯ ว่า หลังจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ออกมาพบข้อจำกัดที่ในกฎหมายกำหนดให้มีการอุทธรณ์ได้ต่างจากกฎหมายเก่าที่ไม่มีส่วนนี้ ส่งผลให้ขณะนี้มีการอุทธรณ์การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐกว่า 1,000 เรื่อง บางเรื่องที่อุทธรณ์เกิดจากผู้ที่แพ้การประมูล ทำให้โครงการดังกล่าวต้องล่าช้าออกไปประมาณ 2 เดือน เพราะในกฎหมายกำหนดเมื่อประมูลแล้วเสร็จรอ 7 วันว่าจะมีการอุทธรณ์ หรือไม่ เมื่ออุทธรณ์มีกำหนดเวลาพิจารณาภายใน 45 วัน สามารถต่ออายุได้อีก 7 วัน บวกได้อีก 5 วัน

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า เอกชนบางรายใช้ช่องกฎหมายนี้ด้วยเจตนาไม่ดี คือเมื่อแพ้ประมูลก็อุทธรณ์ ทำให้รัฐเสียหายเดินหน้าโครงการต่อไม่ได้ เบิกจ่ายก็ไม่ได้ ดังนั้นคนที่ทำไม่สุจริตต้องมีบทลงโทษ ซึ่งมีข้อเสนอมาอาจตัดสิทธิ์ประมูลงานภาครัฐของผู้ที่อุทธรณ์ หรือให้ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยขณะนี้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางไปพิจารณา เพื่อออกเป็นกฎหมายลูก เนื่องจากการอุทธรณ์ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างใช้เวลายาวนานกว่ากฎหมายเก่า ทำให้ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนล่าสุดต่ำกว่าเป้าหมายพอสมควร แต่ถ้าเทียบกับการเบิกจ่ายในปีที่ผ่านมาการเบิกจ่ายปีนี้ยังสูงกว่า

“ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ขณะนี้มีการออกกฎหมายลูกรองรับไปแล้ว 80% เหลืออีกนิดหน่อยที่จะต้องทำให้หมด ซึ่งตั้งแต่ออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างการผูกพันงบปีนี้ทำได้มากกว่าก่อนพ.ร.บ.การเบิกจ่ายมากกว่า แต่ว่าเป้าหมายยังต่ำกว่าเนื่องจากตั้งเป้าหมายไว้ค่อนข้างสูง”นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมหารือถึงกรณีการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับงานวิจัย และพัฒนา ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต้องการใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างของตัวเอง เหมือนกรณีรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นจึงให้ผู้ที่ต้องการจัดซื้อจัดจ้างงานวิจัยโดยใช้ระเบียบของตัวเองเสนอเข้ามาให้คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างพิจารณา เพื่อออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างเป็นกรณีพิเศษ เบื้องต้นมีหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต้องการใช้ระเบียบของตัวเองประมาณ 17 แห่ง

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์