เงินบาทแกว่งตัวในกรอบแคบ รอผลประชุมเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 26 กันยายน 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/9) ที่ระดับ 32.41/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (25/9) ที่ระดับ 32.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่ารายงานของคณะกรรมการการประชุม (Conference Board) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 138.4 ในเดือนกันยายน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นจะลดลงสู่ระดับ 132.0 และสูงขึ้นจากระดับ 134.7 ในเดือนกรกฎาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐได้ปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และการขยายตัวของการจ้างงาน เพิ่มการใช้จ่ายของผู้บริโภค นอกจากนี้แล้วผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคที่มีมุมมองดีขึ้นต่อสภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 27.6% จากระดับ 24.4% ในเดือนสิงหาคม

สำหรับการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรับ (เฟด) คืนนี้ (26/9 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 25-26 กันยายนนี้ เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย อีก 0.25% เป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ตามทีี่เคยส่งสัญญาณเอาไว้  ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นไปเป็น 2.0-2.25% ในขณะที่มุมมองของตลาดเงินผ่าน Fed Fund Futures มากกว่า 80% ยังคาดการณ์ไปถึงการประชุมเดือนธันวาคม 2561 ว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ของปี ทำให้อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2561 นี้ อยู่ที่ระดับ 2.25-2.50% เพราะจากตัวเลขพื้นฐานทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน การเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐ ยังเดินหน้าได้ต่อ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.42-32.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.43/45 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (26/9) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1758/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/9) ที่ระดับ 1.1762/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สมาคมอุตสาหกรรมเยอรมนี ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมนีในปีนี้ จากระดับ 2.25% มาอยู่ที่ระดับ 2% จากการคาดการณ์ว่าอุปสงค์สินค้าจะลดลง โดยได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทาธุรกิจ และนโยบายการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยนายดีทเทอร์ เคมพ์ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเยอรมนี กล่าวถึงความขัดแย้งทางการค้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐและจีน ว่าจะส่งผลกระทบต่อยุโรป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมของเยอรมนี ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1758-1.1773 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1760/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (26/9) เปิดตลาดที่ระดับ 112.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมืื่อวันอังคาร (25/9) ที่ระดับ 111.85/88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดรัฐมนตรีกระทรวงการค้าจากญี่ปุ่น นายฮิโรชิเกะ เซโกะ และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) รวมถึงนางเซซิเลีย มัลม์สตรอม หัวหน้าคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป ตกลงที่จะร่วมมือกันสนับสนุนข้อเสนอการปฏิรูปองค์กรการค้าโลก (WTO) เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับคณะกรรมการของ WTO ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 112.76-112.94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 112.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ปริมาณการสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐอเมริกา (26/9) อัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (26/9) แถลงการณ์ผลการประชุมเฟด (26/9) ดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมัน (27/9) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ (27/9) ผลิตภัณฑ์มวลรวมตัวสุดท้ายของสหรัฐ ประจำไตรมาส 2/2561 (27/9) แถลงการณ์ประธานธนาคารกลางยุโรป ผ27/9) แถลงการณ์ของประธานธนาครกลางสหรัฐ (27/9) ค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคพื้นฐานส่วนบุคคล ของสหรัฐ ประจำเดือนสิงหาคม (28/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.15/-3.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.0/-4.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ