ทำไม? ‘ทักษิณ’ ต้องผวา ‘สมศักดิ์-สุริยะ’

ปี 2526 ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ลงสนามการเมืองใหญ่เป็นครั้งแรก ในนามพรรคกิจสังคม และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.สุโขทัย มาอย่างผูกขาด จนได้ผูกมิตรกับ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ถึงขนาดเคยยกตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ ‘สุริยะ’ นั่งแทน

ผลงานที่โดดเด่น เมื่อครั้งที่ สมศักดิ์ เคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในปี 2538 ขณะที่ วันมูฮัมมัดนอ มะทา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งในช่วงนั้นไม่มีรัฐมนตรีคนใดกล้าเซ็นสัญญาว่าจ้างสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ (หนองงูเห่า) เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เม็ดเงินระดับหมื่นล้าน

‘สมศักดิ์’ จึงได้ตัดสินใจ ลงนามในสัญญาดังกล่าว จนเป็นที่มีของจุดเริ่มต้นในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

จากนั้นมา ‘สมศักดิ์’ ได้นั่งบริหารงานในหลายกระทรวง ภายใต้สังกัด พรรคกิจสังคม ที่นำโดย นายมนตรี พงษ์พสนิช หัวหน้าพรรค

กระทั่ง ‘มนตรี’ เสียชีวิตลงในปี 2543 ซึ่งขณะนั้น สมศักดิ์ ทำหน้าที่เลขาธิการพรรค ทำให้การทำงานสะดุดลง

จากนั้น ‘สมศักดิ์’ และ ‘สุริยะ’ มีความใกล้ชิดกับ ‘พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์’ จึงมีการชักชวนให้ไปร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในระหว่างปรับเปลี่ยนผู้บริหาร ในจังหวะเดียวกัน ‘ทักษิณ ชิณวัตร’ ได้ต่อสายตรงมายัง ‘สุริยะ’ โดยผ่าน ‘เยาวภา วงศ์สวัสดิ์’ เชิญชวนให้มาร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย โดยมีพลพรรคจำนวนมากที่หลั่งไหลมารวมกัน

ในครั้งนั้น ‘มุ้งวังน้ำยม’ ของ ‘สมศักดิ์-สุริยะ’ เป็นมุ้งใหญ่สุดในพรรคไทยรักไทย ที่มีสมาชิกถึง 120 คน

จากนั้น ‘สมศักดิ์’ ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลการท่องเที่ยงและกรมประชาสัมพันธ์ ต่อมา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดัน โครงการ น้ำแก้จน คนหมดหนี้ มีโคร่ำรวย ทำให้ถูกมองว่ามีผลงานที่โดดเด่นมากเกินไป ‘ทักษิณ’ จึงปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีกครั้ง และย้าย ‘สมศักดิ์’ ไปเป็นรองนายกฯ

ขณะที่ ‘สุริยะ’ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุสาหกรรม ตามด้วยกระทรวงคมนาคม จะกระทั่งสนามบินสุวรรณภูมิแล้วเสร็จในสมัยของ ‘สุริยะ’

การเริ่มต้น ของการผูกใจเจ็บน่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งหลังการเลือกตั้งปี 2548 ‘ทักษิณ’ เคยสัญญาตอนหาเสียงเลือกตั้งว่า จะให้’สมศักดิ์’ ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ อีกครั้ง แต่ ‘สมศักดิ์’ ต้องผิดหวัง เมื่อ ‘ทักษิณ’ ส่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรฯ ให้กับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ส่วน ‘สมศักดิ์’ ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา แต่ก็ไม่วาย ถูกย้ายไปอยู่กระทรวงแรงงาน เพื่อสะกัดดาวรุ่ง แต่ ‘สมศักดิ์’ สามารถสร้างผลงานได้อีกครั้งจนได้รับฉายา ‘ขวัญใจฉันทนา’

ในขณะที่หลังการเลือกตั้งปี 2548 ‘สุริยะ’ ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอีกครั้ง และมีผลงานในการเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ที ส่งผลให้กลุ่มวังน้ำยม เติบโตขึ้นอย่างมาก จนมีคนนำความใส่ร้ายป้ายสี ‘สุริยะ-สมศักดิ์’ ไปบอก ‘ทักษิณ’ กระทั่งมีการปลดและลดอำนาจทั้ง 2 คนลง กระทั่งมีการรัฐประหารในปี 2549

ทำให้ถูกมองว่า ‘ทักษิณ’ มีความกังวลและไม่ไว้วางใจบุคคลทั้ง 2 เพราะเชื่อว่าจะมาทำให้อำนาจของ ‘ทักษิณ’ ลดลง และการสร้างกลุ่มสามมิตรในครั้งนี้ จะยิ่งสร้างความสั่นสะเทือนพรรคเพื่อไทย ที่จะมีส.ส.ไหลมาอยู่กับกลุ่มสามมิตร…

ทีมงานการเมือง


ที่มา:มติชนออนไลน์