75 รถร่วมขสมก.ตั้งบริษัทขอสัมปทานเดินรถ 269 เส้นทาง คิดค่าตั๋วบุฟเฟ่ต์เหมา 40 บาท ดีเดย์ก่อนปีใหม่

แฟ้มภาพ

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคมหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เปิดเผยว่า ทางสมาคมรถร่วม สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางกว่า 75 บริษัท ได้มาหารือเรื่องแนวทางการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3 ประเด็น

คือ 1.ทางสมาคมเห็นด้วยกับนโยบายภาครัฐในการปฎิรูปเส้นทางรถโดยสารในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2.ทางสมาคมจะรวมกันเป็นบริษัท รายเดียว และขอใบอนุญาตเดินรถ 7 ปีในเส้นทางเดินรถเดิมที่ให้บริการ หลักเกณฑ์เหมือนกัน องค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) ซึ่งทางเอกชนจะนำรถโดยสารใหม่มาให้บริการพร้อมทั้งติดจีพีเอส และระบบ E-ticket ส่วนเส้นทางที่มีเอกชนหลายรายให้บริการ หรือเดินรถร่วมกับรถ ขสมก.ทางกรมขนส่งทางบกต้องเป็นประเมินว่ารายไหนที่ให้บริการดีที่สุดเพื่อจะให้รายนั้นเป็นผู้เดินรถสายดังกล่าวรายเดียว

และ 3.กรณีหนี้ของรถร่วมกว่า 800 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นระหว่างที่ทำสัญญาสัมปทานกับ ขสมก.จะให้กรมขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นผู้ดูแล

นอกจากนี้ด้านราคาค่าโดยสาร ปัจจุบันยังคงใช้ราคาเดิมอยู่ และขณะนี้ทางกรมขนส่งบกอยู่ในระหว่างการศึกษาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม

“ต้องดูว่าราคาต้นทุนในการให้บริการรถโดยสารที่แท้จริงเป็นยังไงราคาสมเหตุสมผลให้ เช่นต้องเก็บ 20 บาท แต่รัฐให้เก็บ 5 บาท อีก 15 บาท ต้องมาดูว่ารัฐจะชดเชยให้เอกชนยังไง” นายสมศักดิ์กล่าว

ด้าน นางภัทรวดี กล่อมจรูญ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง กล่าวว่า สมาคมมีบริษัท รถร่วมกว่า 75 บริษัท มีรถให้บริการกว่า 2,000 คัน หลังจากที่สมาคมรถร่วมเป็นบริษัทเดียวแล้วจะศึกษาดูรถมาจากต่างประเทศช่วงแรกอาจจะนำเข้าก่อน

ส่วนที่เหลือจะประกอบภายในประเทศ คาดว่า 100 คัน จะให้บริการก่อนปีใหม่ 2561 และทยอยจนครบ 2,000 คันภายใน1ปี เพื่อรับกับนโยบายภาครัฐในการลดมลพิษและไทยแลนด์ 4.0

“เนื่องจากรถใหม่เป็นรถปรับอากาศมีต้นทุนในการให้บริการจึงเสนอแนวทางขอเก็บค่าโดยสาร 20 บาท ตลอดสาย หรือเป็นแบบเหมาจ่ายรายวัน เช่น เหมา 40 บาท สามารถใช้บริการรถโดยสารกี่เที่ยวกี่ครั้งก็ได้ในระหว่างวัน” นางภัทรวดีกล่าว

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้จัดหารถโดยสารจำนวน 1,000 กว่าคันมาให้บริการประชาชน จะประกอบด้วย รถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน รถโดยสารไฟฟ้าจำนวน 200 คัน อยู่ระหว่างขอยกเว้นภาษีนำเข้าเนื่องจากหากไม่ยกเว้นจะเฉลี่ยอยู่ที่คันละ 13 ล้านบาท และปรับปรุงรถโดยสารอีก 646 คัน ทาง ขสมก.อยู่ในระหว่างดำเนินการใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี

“การส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ อาจจะประกอบตัวรถในประเทศ ส่วนคัดซีอาจจะต้องนำเข้าเนื่องจากยังไม่สามารถผลิตในประเทศได้“ นายสมศักดิ์กล่าว