บาทแข็งค่าอย่ามัวแต่รอพึ่งพารัฐ

บทบรรณาธิการ

ท่ามกลางข่าวดีการส่งออกสินค้าไทยครึ่งปีแรกขยายตัว 7.8% คิดเป็นมูลค่า 1.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี กลับมีข่าวร้ายเงินบาทแข็งค่าเข้ามาแทรก เพราะค่าบาทยิ่งแข็งค่าขึ้นมากเท่าใดก็ยิ่งทำให้การส่งออกมีข้อจำกัด ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยลดน้อยลงเท่านั้น

ปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เทียบสถิติย้อนหลังรอบ 6 เดือนนับแต่ต้นปี 2560 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 7% และแม้ภาพรวมการแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค แต่เงินบาทที่แข็งค่าเร็วขึ้น ชี้ให้เห็นถึงความอ่อนไหวต่อปัจจัยลบ โดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์

ล่าสุด แม้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี

แต่การแข็งค่าของเงินบาทกับอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นเรื่องที่ กนง.จับตามองอย่างใกล้ชิด

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า เวลานี้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทมากขึ้น เพราะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 7-8% เทียบกับยอดส่งออกเดือนละ 1.9-2.0 หมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบสูงถึง 4-5 หมื่นล้านบาท/เดือน

ช่วงเวลาที่เหลือปีนี้อีก 4 เดือนเศษ จึงน่าห่วงปัจจัยลบเงินบาทแข็งค่ากระทบภาคส่งออกหนักขึ้น ทำให้เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวอ่อนแรงลงอีก ไม่นับปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจการเมืองโลกที่คาดเดาได้ยาก

มาตรการช่วยเหลือภาคส่งออกกลุ่มเอสเอ็มอีที่เจาะตลาดต่างประเทศ 2.6 หมื่นราย ซึ่งที่ผ่านมารัฐออกหลายมาตรการรองรับ กับมาตรการล่าสุดที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ติวเข้มเรื่องการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจึงน่าจะมาถูกทาง

โดยเฉพาะการแจกคูปองให้เอสเอ็มอีส่งออกไม่เกิน 3 หมื่นบาท/ราย ซื้อออปชั่นประกันความเสี่ยง รวมทั้งขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ลดค่าธรรมเนียมการซื้อประกันความเสี่ยง ฯลฯ เพียงแต่ทำอย่างไรให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้รวดเร็ว และให้ผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็กส่วนใหญ่เข้าถึง

อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้จะสัมฤทธิผลช่วยป้องกันความเสี่ยงเงินบาทแข็งค่า อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนไม่ได้ ถ้าหากผู้ส่งออกไม่ยอมช่วยตนเองด้วยการปรับตัวรับสถานการณ์ หรือไม่ยอมแบกรับภาระต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น แต่ยอมเสี่ยงตายดาบหน้า รอพึ่งพารัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว