“วิษณุ” เผย “บิ๊กตู่” ทูลเกล้าฯ กฎหมายลูกแล้ว2ฉบับ แย้มตั้งเพิ่มคกก.ปฏิรูปด้านศก.-สังคม

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทูลเกล้าฯกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไปแล้ว 2 ฉบับ คือ 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. … 2.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ….ส่วน ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. … ยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เนื่องจากยังมีปัญหาด้านการพิมพ์เพียงเล็กน้อย ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังไม่ส่งมาที่รัฐบาลทั้งนี้ กระบวนการจัดทำกฎหมายลูกของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ สนช.ไม่ถือว่าล่าช้า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการปกติ

นายวิษณุกล่าวถึงคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ที่ยังเหลือโควตาสามารถตั้งเพิ่มเต็มได้ว่า ไม่ทราบว่าบรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ จะได้รับการแต่งตั้งเข้ามาหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี แต่ส่วนตัวไม่คิดว่าจะมีการแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพเข้ามา เพราะหากคิดจะตั้งจริง ก็สามารถตั้งได้เลย ไม่ต้องรอเกษียณ อีกทั้งผบ.เหล่าทัพ ต่างเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติโดยตำแหน่งอยู่แล้ว ทั้งนี้ เจตนาในการแต่งตั้งเพิ่มเติมคือ เมื่อกรรมการปฏิรูปที่มีอยู่ คิดว่าไม่สามารถทำงานได้หากไม่มีการแต่งตั้งคนเพิ่มเติมเข้ามาส่วนบุคคลจากองค์กรอิสระ ซึ่งไม่สามารถควบเป็นกรรมการปฏิรูปได้แต่มีหลายคนที่เราอยากได้มาทำงาน จึงอาจต้องรอไปก่อนอย่างไรก็ตาม คณะกรรมการปฏิรูปด้านอื่นๆ ที่สามารถแต่งเพิ่มเติมได้ตามความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะตั้งเพิ่มในด้านเศรษฐกิจสังคม เพราะด้านนี้มีประเด็นที่สามารถแตก แยกย่อยได้อีกมาก

นายวิษณุกล่าวว่าเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เชิญเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาหารือเพื่อเตรียมการประชุมประธานคณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ภายใน 15 วันนับตั้งแต่แต่งตั้ง โดยการประชุมจะตกลงกติกา ก่อนแต่ละคณะจะแยกย้ายไปทำงานคาดว่าจะสามารถประชุมได้‪ในวันที่ 30 สิงหาคม‬ โดยที่ประชุมจะมีกรรมการยุทธศาสตร์ 1 คนเป็นประธาน นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้ายังได้นัดหมายเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละคณะเป็นการภายในเพื่อหารือด้านธุรการก่อนประชุมประธานแต่ละคณะ

“การดำเนินการจัดทำแผนปฏิรูปประเทศจะเป็นแผนตามกฎหมาย ซึ่งผูกพันไปอีก 5 ปี เพราะการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ผ่านมา ไม่มีผลผูกพันกับใครทั้งนั้น เป็นเพียงการประสานร่วมกับรัฐบาล ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปจึงสำคัญกว่า เพราะอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่กรรมการชุดนี้ ในกฎหมายเขียนไว้เลยว่า ให้คณะกรรมการปฏิรูปเอาแผนการของ สปช.และ สปท. มาใช้เป็นกรอบเพื่อต่อยอดออกไปคณะกรรมการปฏิรูปนี้เป็นสภาที่ปฏิบัติไม่ใช่สภาที่เสนอแนะอย่าง สปท.และ สปช.เพราะฉะนั้น ใครที่ออกมาให้ความเห็นว่า ตั้งคณะกรรมการกันเยอะเหลือเกินตรงนี้ก็เพราะรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องบังคับให้ตั้ง” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่าส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งผูกพันระยะยาวนั้น จะไม่สอดคล้องกับโลกโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติระบุไว้แล้วว่าหากนโยบายของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติได้เพียงแต่ให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขตามกระบวนการที่ถูกต้องโดยเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนผ่านการพิจารณาที่ประชุมสภาฯ เป็นต้นทั้งนี้รัฐบาลใหม่ ไม่จำเป็นต้องยึดตามเป้าหมายยุทธศาสตร์เดิม แต่สามารถกำหนดเป้าหมายใหม่ได้ เพื่อให้ดีกว่าเดิม และวิธีการไปสู่เป้าหมาย คณะกรรมการยุทธศาสตร์จะไม่ยุ่ง แต่ปล่อยให้รัฐบาลได้คิดวิธีของตัวอง เช่น ถ้ายุทธศาสตร์ชาติระบุให้ช่วยเหลือชาวนาวิธีการจะเป็นจำนำข้าว ประกันราคาข้าวหรือรับซื้อ ก็ให้รัฐบาลแต่ละชุดคิดเอง ไม่มีปัญหา

เมื่อถามว่าผลพลอยได้จากการตั้งคณะกรรมการปฏิรูป คือการยับยั้งรัฐบาลเสียงข้างมากที่จะทำนโยบายประชานิยมใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง รัฐบาลไม่มีความตั้งใจอย่างนั้น นโยบายประชานิยมรัฐธรรมนูญได้ยับยั้งไว้แล้ว ทั้งยังมี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ที่ระบุว่าโครงการที่เข้าข่ายประชานิยม ต้องบอกถึงแหล่งรายได้ที่จะนำมาใช้ นอกจากนี้ พ.ร.บ.พรรคการเมืองยังกำหนดว่าในช่วงหาเสียง ซึ่งจะมีการประกาศว่าจะทำอะไรก็ตาม หากเป็นเรื่องใหม่ จะต้องบอกด้วยว่าใช้งบฯจากที่ใดเช่น นโยบายให้ประชาชนกินดีอยู่ดีถ้าจะมีการขึ้นภาษีแต่ไม่บอกประชาชนตรงนี้ไม่ได้

 


ที่มา : มติชนออนไลน์