
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเดินทางติดตาม พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเข้าร่วมการประชุมหารือรัฐมนตรีร่วมเมียนมา-ไทย ว่าด้วยแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ที่กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า ในการประชุม ฝ่ายไทยขอให้ทางการเมียนมาดำเนินการ 4 ข้อ คือ 1. เร่งรัดการตรวจสัญชาติและออกใบพิสูจน์สัญชาติ หรือCI ให้กับแรงงานเมียนมา 2.ขอให้จัดส่งแรงงานเมียนมาในกิจการต่าง ๆ แบบรัฐต่อรัฐ (G to G) 3. ชี้แจง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 เรื่องมาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และประกาศกระทรวงแรงงานเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงาน ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และ4. ขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมไทย-เมียนมา เพื่อแก้ไขปัญหากรณีมีข้อขัดข้องเพื่อให้ทันการดำเนินการในช่วง 6 เดือน ที่ชะลอบทลงโทษ โดยต้องยกระดับความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ด้านฝ่ายเมียนมารับข้อเสนอของฝ่ายไทยและรับทราบมาตรการชั่วคราว เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทั้งนี้ ได้ขอให้ทางการไทยประชาสัมพันธ์ให้แรงงานได้รับทราบข้อมูลข่าวสารการอย่างทั่วถึง พร้อมให้การคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปตามสัญญาจ้างตามกฎหมายไทย ตลอดจนขอทราบข้อมูลจำนวนแรงงานต่างด้าวว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อประกอบการจัดเตรียมเครื่องมือ เจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเปิดศูนย์ให้คำปรึกษา และให้ฝ่ายไทยตรวจสอบความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Demand Letter) ของนายจ้างให้ตรงกับความต้องการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งขอให้ตรวจสอบเอกสารแรงงานเมียนมาให้ละเอียดรอบคอบเพื่อป้องกันการสวมรอยจ้างแรงงาน นอกจากนี้ ยังขอให้ไทยมีมาตรการรองรับแรงงานเมียนมาที่เดินทางกลับประเทศช่วงที่ออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และจะเดินทางกลับเข้ามาทำงานอีกด้วย
“ฝ่ายไทยขอให้ทางการเมียนมาจัดตั้งศูนย์การพิสูจน์สัญชาติบริเวณชายแดนเพื่อออก CI ให้กับแรงงานที่จะเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยให้นายจ้างไปรับเข้ามา ซึ่งฝ่ายไทยจะออกวีซ่าและอนุญาตให้ทำงานต่อไป โดยฝ่ายเมียนมารับในหลักการ และขอให้หารือในรายละเอียดร่วมกันเพื่อให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำชับให้ดูแลแรงงานเมียนมาให้เหมือนกับคนไทย ซึ่งการจัดระเบียบแรงงานมีผลดีกับทั้งสองฝ่าย และปัจจุบันความร่วมมือระหว่างกันเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยสังเกตุได้จากผลสำเร็จของการตรวจพิสูจน์สัญชาติ ออกเอกสาร CI และการนำเข้า MOU” นายวรานนท์ กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์