ช่วยคนจนอย่าซ้ำรอยประชานิยม

บทบรรณาธิการ

การเมืองที่กำลังฝุ่นตลบ ระหว่างรอประกาศวันเลือกตั้งที่ชัดเจนถูกกลบกระแสลงชั่วคราว หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 20 พ.ย. ไฟเขียวแพ็กเกจช่วยเหลือคนจน เกษตรกร ผู้สูงอายุ ข้าราชการบำนาญ ฯลฯ รวมวงเงินเฉียดแสนล้านบาท

เป็นข่าวดีช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี ที่มีทั้งเสียงฮือฮาจากคนหลายกลุ่มที่ขานรับโบนัสลด แจก แถม กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมือง พรรคการเมืองต่างขั้ว ที่มีคำถามและตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีนัยทางการเมืองแอบแฝง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล อย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ประสานเสียงชี้แจงว่า มาตรการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเพื่อลดภาระและสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน กลุ่มที่ยังต้องการการดูแล

ด้วยการใส่เงินเพิ่มให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ครัวเรือนละ 100 บาท และ 230 บาท ตั้งแต่ ธ.ค. 2561 ถึง ก.พ. 2562 จ่ายเงินเพิ่มให้จับจ่ายช่วงปีใหม่ 500 บาท จ่ายค่าเดินทางไปรักษาพยาบาลให้ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 1,000 บาท และช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาท/เดือน ตั้งแต่ ธ.ค. 2561 ถึง ก.ย. 2562 รวมทั้งจ่ายเงินเพิ่มข้าราชการบำนาญที่ได้รับเงินบำนาญต่ำกว่า 10,000 บาท เป็น 10,000 บาท/เดือน ขยายเพดานบำเหน็จเป็นไม่เกิน 500,000 บาท

นอกจากนี้ ยังจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางและคนกรีดยาง ไร่ละ 1,800 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ อนุมัติวงเงินชดเชยส่วนต่าง เพื่อนำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตไฟฟ้า 160,000 ตัน วงเงิน 525 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกมาตรการพิเศษกระตุ้นการลงทุน

กล่าวได้ว่าช่วงนาทีทองโค้งสุดท้ายปีนี้ รัฐบาลจัดเต็ม แจกทั่วถึงทั้งรากหญ้า ภาคธุรกิจ แถมอีกหลายมาตรการกำลังจะตามมา อาทิ มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ช็อปช่วยชาติ เวอร์ชั่น 2 ฯลฯ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐหวังผลทางการเมืองจึงแพร่สะพัด

ขณะเดียวกันก็ท้วงติงที่รัฐช่วยเหลือชาวสวนยางพารา ปาล์มน้ำมันแบบเฉพาะหน้า เพื่อซื้อเวลาและลดแรงกดดันจากการเคลื่อนไหวเรียกร้อง แทนที่จะแก้ปัญหาพืชผลเกษตรให้เป็นรูปธรรมในระยะยาว

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหา และพิสูจน์ว่ายังทำตามคำมั่น รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร คนจนพึ่งพาตนเองได้ ที่สำคัญต้องไม่มุ่งประชานิยม แจกเงินแลกคะแนนเสียง เพราะยิ่งจะฉุดให้รากหญ้าอ่อนกำลัง บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หากเป็นอย่างนั้น โอกาสที่เศรษฐกิจจะมั่นคง ยั่งยืน คงเป็นไปได้ยาก