“สมคิด” ดีใจจีดีพีไตรมาส 2 โต 3.7% ขุนคลังชี้เศรษฐกิจไทยโต 5% ในอีก 2 ปี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตัวเลขจีดีพีที่สภาพัฒน์แถลงว่าไตรมาส 2/2560 ขยายตัว 3.7% เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวเร็วและรักษาโมเมนตัมได้ดี เอื้อต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศในระยะต่อไป ซึ่งตัวเลขที่สนับสนุนให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือการลงทุนภาคเอกชนการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร แต่ในส่วนที่ชะลอลงคือการลงทุนภาครัฐ ดังนั้นระยะที่เหลือของปีนี้ภาครัฐจะต้องปั๊มการลงทุนให้เพิ่มขึ้น และรอฟังตัวเลขการส่งออกที่จะออกมาเร็วๆ นี้ หากทั้งสองตัวนี้ดีต่อเนื่องก็จะทำให้เศรษฐกิจดีต่อเนื่องไปได้

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 ของปีนี้ที่ขยายตัวได้มาก เป็นผลจากที่รัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทำให้ไทยมีพื้นฐานที่ความเข้มแข็ง จึงส่งผลให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 โตได้ 3.7% แต่ยังต่ำกว่ารัฐบาลคาดหวังไว้ที่ให้เศรษฐกิจโตเต็มศักยภาพอย่างน้อย 4% ซึ่งขณะนี้ใกล้ความเป็นจริง เพราะตอนนี้เศรษฐกิจยังโตเพิ่มขึ้นได้อีก

นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี ) มีนักลงทุนมาขอลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน (บีโอไอ) จำนวนมาก ซึ่งจะมีส่วนสำคัญให้จีดีพีไทยโตได้ถึง 5% คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 ปี ในการลงทุนของอีอีซีจะเดินหน้าได้เต็มที่ เพราะว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ซึ่งตอนนี้มีการตั้งสำนักงานอีอีซี ทำให้การขับเคลื่อนลงทุนเอกชนเป็นด้วยความรวดเร็วขึ้น ที่ผ่านมาได้หารือกับนักลงทุนต่างชาติสนับสนุนโครงการอีอีซีอย่างมาก

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้มาก เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลดีในภาพรวมให้กับประเทศ ทำให้เอกชนเริ่มลงทุนมากขึ้น และจะมีผลตามมาทำให้กระจายรายได้ไปสู่ผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น เหมือนในอดีตที่เศรษฐกิจประเทศไทยเคยโตกว่า 10% ช่วยให้คนจนลดลงไปจำนวนมาก ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยหยุดขยายตัวทำให้คนจนกลับมาเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวครั้งนี้ ยังไม่ส่งผลต่อผู้มีรายได้น้อยอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่ม เช่น แจกสวัสดิการภาครัฐ มีทั้งค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ยังมีช่วยเหลือระยะที่สอง คือการเพิ่มรายได้ให้กับผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือผู้มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี โดยรัฐบาลจะเติมเงินให้คนกลุ่มนี้ ตอนนี้อยู่ระหว่าพิจารณารายละเอียด เกี่ยวกับตัวชี้วัด เรื่องความยากจนให้ชัดเจน เบื้องต้นให้ทำบัญชีครัวเรือน โดยแบงก์รัฐได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน คาดว่าภายใน 2-3 ปีจะทำให้แก้ปัญหาความยากจนดีขึ้นมาก