“ฝรั่งเศส” หนุนไทยแลนด์ 4.0 บุก “พลังงานทดแทน-คมนาคม”

แม้ว่า “ฝรั่งเศส” ไม่ใช่นักลงทุนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย เหมือนอย่างญี่ปุ่น โดยปัจจุบันมีบริษัทฝรั่งเศสลงทุนในประเทศไทยกว่า 350 บริษัท แต่ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมาย

สำคัญที่ประเทศไทยพยายาม ดึงดูดเข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” เพราะฝรั่งเศสมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรมต่าง ๆ

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีพิธีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่า ด้วยเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-ฝรั่งเศส และการประชุม France-Thailand Business Forum

โดย นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส กล่าวว่า การลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนกรุงปารีสที่ผ่านมา และชักชวนให้นักลงทุนฝรั่งเศสมาลงทุนในไทย พร้อมนำเสนอโครงการมากมายที่รัฐบาลไทยกำลังทำอยู่ โดยเฉพาะ 4 สาขาสำคัญได้แก่ 1.ภาคเกษตร 2.การคมนาคมขนส่ง 3.พลังงานทดแทน และ 4.สมาร์ทซิตี้ และการร่วมในโครงการ “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” (EEC)

ปัจจุบันประเทศไทยยังติด Top 5 ของการเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างประเทศในภูมิภาค เอเชีย จากที่มีจุดยุทธศาสตร์ของการเชื่อมโยงกับประชาคมโลก โดยเฉพาะกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง CLMV ประกอบกับรัฐบาลไทยมีแผนการพัฒนาประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ทำให้นักธุรกิจต่างชาติให้ความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา

นายฟรองซัวร์ กอร์บัง ประธานสภาธุรกิจฝรั่งเศส-ไทย ภายใต้สภาองค์กรนายจ้างแห่งฝรั่งเศส (MEDEF International) กล่าวว่า บริษัทฝรั่งเศส มีความรู้และความเชี่ยวชาญในระดับชั้นนำของโลก การแลกเปลี่ยนความรู้กันจึงมีความสำคัญมากสำหรับก้าวแรกของทั้งสองประเทศ ในการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันว่าประเทศไทยต้องการอะไร และฝรั่งเศสสามารถช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านไหนได้

“เรามีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนประเทศไทยในการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนประเทศในทุกภาค ส่วน ที่ผ่านมาฝรั่งเศสมีความสนใจที่จะมาลงทุนในไทยแต่ติดปัญหาเสถียรภาพทางการ เมือง แต่ปัจจุบันการเมืองของไทยเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและพร้อมกลับมาลงทุน ยิ่งตอนนี้มีแอร์บัสที่เข้าร่วมในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่อู่ตะเภาแล้วเราเชื่อว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงของฝรั่งเศสจะเป็น หนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายได้

นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังสนใจการลงทุนพัฒนาโมโนเรล เพื่อต่อยอดโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังเจรจาระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในตอนนี้”

นอกจากนี้ นายกอร์บังยังกล่าวถึงภาค “พลังงานทดแทน” ที่ฝรั่งเศสมีความเชี่ยวชาญ และเชื่อว่าในอนาคตหลายประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยน วิธีการผลิตไฟฟ้า

มาสู่พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยในครั้งนี้มีบริษัทของฝรั่งเศสที่สนใจและเข้าร่วมเกือบ 30 บริษัท ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานทดแทนและด้านนวัตกรรม

ขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ย้ำว่า การเพิ่มโอกาสลงทุนของภาคเอกชนฝรั่งเศส เท่ากับเป็นการสร้างงานให้กับประเทศไทยด้วย ฝรั่งเศสถือว่าเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) และฝรั่งเศสยังเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 27 ของไทย และอันดับ 5 ในกลุ่มอียู ดังนั้น การลงนาม MOU ครั้งนี้จะย้ำศักยภาพทั้งด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นด้านธุรกิจและการค้า

“แม้ การเอ็มโอยูครั้งนี้จะไม่มีเปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายตายตัว แต่การเติบโตและความถี่ในการพบปะกันของภาคเอกชนทั้งสองประเทศ ถือเป็นความสำเร็จขั้นแรก และเดือนพฤศจิกายนนี้ รองนายกฯสมคิดก็มีแผนจะเดินทางไปปารีสอีกครั้ง เพื่อยกระดับการพูดคุยกับภาครัฐและเตรียมขั้นตอนการทำบิสซิเนส แมตชิ่ง ต่อไป”