ดันตั้งโฮลดิ้งคัมปะนีเข้าครม. จัดตั้งบรรษัทรับโอนหุ้น 12 รัฐวิสาหกิจ

สำนักงบฯตัดทิ้งเงินประเดิมตั้ง “โฮลดิ้งคอมปะนี” 1 พันล้าน คลังลั่นไม่พับแผนชงกฎหมายการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ลุ้นร่างกฎหมายเข้า ครม.สัปดาห์นี้ สคร.ลั่นเตรียมพร้อมจัดตั้งบรรษัท ส่อโอนหุ้นแค่ 11 รัฐวิสาหกิจยกเว้นแบงก์กรุงไทย

แหล่งข่าวจาก กระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ได้มีการตัดงบประมาณที่จะใช้เป็นทุนประเดิมจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ (โฮลดิ้งคอมปะนี) จำนวน 1,000 ล้านบาทออกไป เนื่องจากทางสำนักงบประมาณเห็นว่า ควรรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ก่อน

“ตอนนี้ต้องรอให้ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …ผ่านออกมาใช้บังคับก่อน ส่วนเรื่องเงินประเดิมคงไม่ใช่ปัญหา เพราะจะขอตั้งจากงบฯกลางได้ เนื่องจากเป็นนโยบายรัฐบาลให้จัดตั้งบรรษัท” แหล่งข่าวกล่าว

คาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์นี้ อาจจะมีการหยิบยกร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหาร รัฐวิสาหกิจขึ้นมาพิจารณา ขณะนี้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว หาก ครม.เห็นชอบก็จะเสนอเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับการโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง มูลค่าสินทรัพย์รวม 6 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย บมจ.ปตท., บมจ.อสมท, บมจ.ท่าอากาศยานไทย, บมจ.การบินไทย, ธนาคารกรุงไทย, บมจ.ทีโอที, บมจ.กสท โทรคมนาคม, บริษัทขนส่ง (บขส.), บริษัทสหโรงแรมไทย, บริษัทอู่กรุงเทพฯ, บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ (ธพส.) และบริษัทไปรษณีย์ไทย มาให้บรรษัทนั้น ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว

อาจจะมีในส่วนของธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่อาจยังต้องพิจารณา เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งหากดูแล้วยังไม่สามารถโอนได้ เนื่องจากกฎหมาย FIDF กำหนดให้ต้องชำระค่าหุ้นด้วยเงินสดเท่านั้น ก็อาจจะยังไม่จำเป็นต้องโอนหุ้นมาไว้ที่บรรษัท

ก่อนหน้านี้ อนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัท เคยมีแนวคิดรับโอนหุ้นรัฐวิสาหกิจ 12 แห่งเข้ามาให้บรรษัทถือหุ้นแทนกระทรวงการคลัง ด้วยวิธีการโอนหุ้นตามมูลค่าทางบัญชี โดยมองว่า จะไม่กระทบต่อสถานะการคลัง และไม่มีกำไร/ขาดทุนเกิดขึ้น

ซึ่งกรณีการโอนหุ้นธนาคารกรุงไทยนั้น เดิมจะใช้วิธีย้ายหุ้นจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มาที่กระทรวงการคลังก่อน แล้วจึงย้ายไปอยู่กับโฮลดิ้งอีกที ซึ่งไม่ได้กระทบในแง่หนี้สาธารณะ เพราะยังคงสถานะเป็นหนี้สาธารณะอยู่เท่าเดิม และผู้จะชำระคืนหนี้ในส่วนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯนี้ ก็จะยังเป็นธนาคารพาณิชย์เหมือนปัจจุบันที่จ่ายค่าธรรมเนียมอยู่ 0.46% ของเงินฝาก

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจดังกล่าว ครม.ได้เห็นชอบหลักการไปก่อนหน้านี้แล้ว

สำหรับกระบวนการเตรียมการจัดตั้งโฮลดิ้งคอมปะนีนั้น นายเอกนิติกล่าวว่า ได้มีการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

“เมื่อกฎหมายผ่าน ก็จะต้องเตรียมการโอนทรัพย์สิน โอนหุ้นรัฐวิสาหกิจมาไว้ที่โฮลดิ้งคอมปะนี แต่การโอนยังมีเวลา เพราะกฎหมายให้เวลาอีก 180 วัน” นายเอกนิติกล่าว