เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (4)

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//:viratts.wordpress.com

เรื่องราวบริษัทศตวรรษที่เหลืออยู่ไม่กี่แห่ง ได้ผ่านร้อน ผ่านหนาว แห่งวิวัฒนาการสังคมไทย กำลังกำลังเคลื่อนไปข้างหน้าเร้าใจ

ปี 2544 “กลุ่มบริษัทไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบีเจซี ซึ่งกลุ่มบริษัทไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น เป็นกลุ่มบริษัทชั้นนำในประเทศไทย ที่มีกิจการมากมาย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ธุรกิจเบียร์ และเครื่องดื่ม โรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ ประกันภัย ธุรกิจการเกษตร เป็นต้น” (อ้างจาก (http://www.bjc.co.th/online_museum) นั่นคือจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากบริษัทการค้า (Trading company)

 

เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้วในยุคอาณานิคม ค่อย ๆ พัฒนาเมื่อเข้าสู่ยุคสงครามเวียดนาม ตามกระแสหลักการลงทุนจากโลกตะวันตก เพื่อผลิตสินค้าส่วนใหญ่มุ่งตอบสนองวิถีชีวิตปัจเจก หรือในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นยุคผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือบีเจซีสร้างฐานการผลิตของตนเองที่สำคัญ ๆ ไว้ในขณะนั้นด้วย

ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” เบอร์ลี่ ยุคเกอร์อยู่ในสถานการณ์คลุมเครือ ท่ามกลางการเผชิญการเปลี่ยนแปลง การบริหารและโครงสร้างผู้ถือหุ้น (ตามที่กล่าวในตอนที่แล้ว) แม้ว่ามีเมื่อกลุ่มบริษัท ไทยเจริญ

คอร์ปอเรชั่น ได้ หรือ ทีซีซี เข้ามาซื้อกิจการแล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าว ยังคงมีอยู่อีกพักหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นกลุ่มทีซีซี ภายใต้การนำของ เจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี กำลังปรับตัวอย่างครึกโครม ทั้งเผชิญปัญหากิจการต้องล่าถอยจากธุรกิจธนาคารและหลักทรัพย์ ขณะที่อีกด้านเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ รวมทั้งร่วมทุนกับต่างประเทศ ภาพเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ในมือของทีซีซีช่วงแรก ๆ จึงดูคลุมเครือ

แต่สิ่งที่แน่นอนซึ่งสัมผัสได้ กลุ่มทีซีซีภูมิใจในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ในฐานะกิจการศตวรรษ มีความพยายามในช่วงแรก ๆ จะศึกษาประวัติศาสตร์ของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์อย่างจริงจัง เข้าใจว่า ความเป็นไปคงไม่ลงตัว จึงเป็นได้แค่สิ่งที่เรียกว่า “พิพิธภัณฑ์ออนไลน์” ปรากฏใน http://www.bjc.co.th ด้วยข้อมูลค่อนข้างฉาบฉวย อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงประธานกรรมการ (เจริญ สิริวัฒนภักดี) มักอ้างอิงฐานะบริษัทศตรวรษอยู่เสมอ เช่น ในรายงานประจำปีล่าสุด (2559) “ตลอดเวลา 134 ปี กลุ่มบริษัทบีเจซียังคงยึดหลักธรรมาภิบาล ในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ควบคู่ไปกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”

เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ภายใต้เครือข่าย ทีซีซี จากปี 2544 ผ่านราว ๆ 5 ปี การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ได้เกิดขึ้น ความเป็นจริงแล้วเกิดขึ้นท่ามกลางกระบวนการปรับตัว ปรับโครงสร้างโดยรวมครั้งใหญ่ของทีซีซี

ผมเคยเสนอเรื่องราวนั้นมาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยเชื่อว่าเป็นผลต่อเนื่อง กรณีบริษัทไทยเบฟเวอเรจ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) มื่อปี 2549

“แรงบันดาลใจของความพยายาม ปรับตัวครั้งใหญ่ มาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นของเขาสู่รุ่นลูกอย่างชัดเจน …ในเวลานั้นบุตรและบุตรีของเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี กำลังก้าวสู่วัยเกิน 30 ปี …การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ มีความพยายามเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนมากขึ้น พร้อม ๆ กับการตัดสินใจนำบรรดาบุตรและบุตรีขึ้นสู่ตำแหน่งการบริหารในระดับสูง แม้ว่าพวกเขาและเธอแทบไม่มีประสบการณ์ในการบริหารมาก่อน”

(ตัดตอน บางส่วน จากข้อเขียนเรื่อง “กลุ่มไทยเจริญ” ซึ่งมี 4 ตอน ต้นปี 2553) ภาพนั้นชัดเจนที่เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ด้วยเช่นกัน ด้วยปรากฏตัวของผู้บริหารรุ่นใหม่

คนแรก–อัศวิน เตชะเจริญวิกุล คนหนุ่มวัยเพิ่งจะ 30 ปี เข้ามีบทบาท ด้วยจังหวะก้าวอย่างรวดเร็ว เริ่มจากตำแหน่งกรรมการและกรรมการบริหาร (ปี 2550) เพียงปีเดียวจากนั้นขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และในปี 2555 เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันได้รักษาการในตำแหน่งใหม่ ซึ่งสะท้อนโมเดลธุรกิจเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ ผู้จัดการใหญ่
กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่และกระจายสินค้าอีกคนหนึ่ง-ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ในวัยไล่เลี่ยกันกับอัศวิน เธอเข้ามา มีบทบาทในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ในฐานะเป็นกรรมการบริษัท ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ (ราวปี 2544) ที่กลุ่มทีซีซีกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จากนั้นมีตำแหน่งบริหารด้วย เป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส (2551-2558) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งใหม่ที่น่าสนใจ -ประธานเจ้าหน้าที่บริหารประจำสำนักประธาน (2559- ปัจจุบัน)

ทั้งคู่เป็นสามีภรรยากัน คนแรกเป็นบุตรเขย อีกคนเป็นบุตรีคนสุดท้องของเจริญ-วรรณา สิริวัฒนภักดี เข้าใจ ทั้งสองพบกันในช่วงไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศที่เดียวกัน ด้วยมีโปรไฟล์การศึกษาของทั้งคู่ ควรนำเสนอไว้ เพื่อสะท้อนแนวความคิด โมเดล และความพยายาม ตามแบบฉบับเครือข่ายธุรกิจครอบครัวรายใหญ่ (อ้างอิงข้อมูลทางการในรายงานประจำปีของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์)

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล จบการศึกษารับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทต่างประเทศ ในที่ที่และหลักสูตรซึ่งเตรียความพร้อมนักบริหารธุรกิจรุ่นใหม่ นั่นคือ MBA (Master of Business Administration) ที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT)

ในช่วงคาบเกี่ยวกัน ฐาปณี สิริวัฒนภักดี กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี (Bachelor of Sciences in Economics) ที่เดียวกัน และเมื่อเธอจำเป็นต้องเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดี เตรียมพร้อมรับช่วงการบริหารกิจการครอบครัว ที่ Harvard University (MBA Harvard Business School) อัศวินเลยอยู่ต่อทำปริญญาโทอีกใบ (Master of Public Administration, Harvard University) ที่นั่นด้วย

เป็นจังหวะที่ต่อเนื่องกับการเข้ามาทีมทายาท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แสดงภาพความสัมพันธ์และบทบาท ในยุทธศาสตร์ธุรกิจเชื่อมโยงกับกลุ่มทีซีซีโดยรวม

ทั้งนี้สะท้อนผ่านบันทึกประวัติเบอร์ลี่ยุคเกอร์”ปี 2550 บีเจซี ได้ขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มากขึ้น โดยได้ซื้อหุ้นร้อยละ 50 ในบริษัท ไทยเบเวอร์เรจ แคน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตกระป๋องและฝาอะลูมิเนียมชั้นนำในประเทศไทย”

“ปี 2553 บีเจซี ร่วมทุนกับโอเว่น อิลลินอยส์ ผู้ผลิตแก้วรายใหญ่ของโลก ส่งผลให้ TGI เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” Owens-Illinois Inc คือบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ของโลก ก่อตั้งมาเกือบ 100 ปี สำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐ มีกิจการครอบคลุมทั่วโลกทั้งอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย-แปซิฟิก และยุโรป”2554 บีเจซี ร่วมทุนกับ บอลล์ คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของโลก” Ball Corporation ถือเป็นกิจการบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล สำหรับอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งมากว่า 100 ปี ในสหรัฐเช่นกัน

บทบาทสำคัญข้างต้น สะท้อนบทบาทหลัก ดูค่อนข้างจำกัด ประหนึ่งเพื่อการสนับสนุนกิจการสำคัญภายในกลุ่มทีซีซีทว่า เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ภายใต้ทีมอัศวิน-ฐาปนี ไม่หยุดอยู่แค่นั้น

 

คลิกอ่าน>>เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (3)
คลิกอ่าน>>เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (2)
คลิกอ่าน>>เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (1)