AIR RACE 1 World Cup Thailand 2017 แข่งซ่าท้ามฤตยู เร็วสุดในโลก

หลังจากฟักตัวจากการจัดแข่งขันพรี อีเวนต์ “AIR RACE 1 THAILAND Persented by Chang” ไปเมื่อปีที่แล้ว ในที่สุดประเทศไทยก็สามารถคว้าลิขสิทธิ์ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “AIR RACE 1 World Cup 2017 (Thailand)” ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2560 ที่สนามบินอู่ตะเภา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบฯก้อนโตเป็นเงินถึง 180 ล้านบาทในการจัด ในจำนวนนี้เป็นค่าลิขสิทธิ์ 20.4 ล้านบาท ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับกองทัพเรือ เป็นเจ้าภาพ

“AIR RACE 1 World Cup” เป็นการแข่งขันระหว่างประเทศ ประเภทซีรีส์ และเป็นการแข่งขันที่ใช้ความเร็ว-เร็วที่สุดในโลก! ความเร็วสูงสุด 450 กม./ชม. หรือรู้จักกันในชื่อ “การแข่งขันเครื่องบินสูตร 1” คล้ายกับการแข่งรถฟอร์มูล่า 1 แต่แข่งรถความเร็วน้อยกว่า ขณะที่แข่งขับเครื่องบินถือเป็นการแข่งขันเครื่องบินระดับสูงสุด

การจัดการแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงาน มหกรรมทางเรือนานาชาติ ในโอกาสครบ 50 ปีการก่อตั้งอาเซียน ซึ่งเป็นแนวคิดในการนำกีฬามาบวกกับการท่องเที่ยว ก่อให้เกิดรายได้ทางเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล หรือที่เรียกว่า “สปอร์ตทัวริซึ่ม” และแอร์เรซ วัน ถือเป็นกีฬามอเตอร์สปอร์ตที่ได้ รับความนิยมระดับโลก มีทั้งนักกีฬา ทีมสนับสนุน และผู้ชมเข้าร่วมจำนวนมาก จากที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์ไม่ต่ำกว่า 100,000 คน

ตามประวัติ “AIR RACE 1” เป็นการแข่งขันขับเครื่องบินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นมากว่า 100 ปีแล้ว ได้รับความนิยมอย่างสูงทั่วโลก โดยเริ่มแข่งขันครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1909 หลังจากนั้นการแข่งขันขับเครื่องบินแอร์เรซ วัน ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ให้กับวงการกีฬา

มอเตอร์สปอร์ตมาโดยตลอด การแข่งขันครั้งนี้ ปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในคณะที่ปรึกษาจัดการแข่งขันกล่าวว่านับเป็นการจัดแข่งขันเครื่องบิน ครั้งแรกในประเทศไทย และครั้งแรกในเอเชีย ของวงการกีฬามอเตอร์สปอร์ต

เครื่องบินที่ใช้ในการแข่งขันเป็น “เครื่องบินฟอร์มูล่า” หรือ “เครื่องบินสูตร 1” เป็นประเภทเดียวในโลกที่สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ การผลิตเครื่องบินชนิดนี้มีเป้าหมายประการเดียว คือการทำความเร็วในเพดานบินต่ำ และสามารถเลี้ยวไปตามเส้นทางสนามแข่งขัน โดยปกตินักบินและวิศวกรจะสร้างเครื่องบินแข่งขันสูตร 1 ของตนเอง อาจใช้เวลามากกว่าสองปี เครื่องบินทุกลำผลิตเฉพาะและไม่เหมือนกับลำอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแข่งขันเครื่องบินสูตร 1 จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแข่งฟอร์มูล่า 1 แต่ก็มีกฎหรือข้อบังคับเหมือนกัน โดยการแข่งขันเครื่องบินสูตร 1 จะเป็นไปตามกฎข้อบังคับทางเทคนิคที่กำหนดให้เครื่องบินทุกลำต้องมีคุณสมบัติ พื้นฐานเหมือนกัน หรือเป็นสูตรเดียวกัน

กฎดังกล่าวรวมถึงข้อจำกัดที่สำคัญ เช่น ปีกของเครื่องบินแต่ละลำต้องมีขนาดอย่างน้อย 66 ตารางฟุต, เครื่องบินแต่ละลำต้องมีน้ำหนักเกินกว่า 500 ปอนด์, นักบินแต่ละรายต้องมีน้ำหนักเกินกว่าน้ำหนักที่กำหนด หรือต้องถ่วงน้ำหนักเพิ่มในชุดนักบิน, เครื่องยนต์ต้องเป็น Continental O-200 ขนาด 100 แรงม้า แต่อนุญาตให้สามารถปรับแต่งเครื่องยนต์ได้, เครื่องบินต้องติดตั้งระบบล้อลงจอดและเพลาใบจักรพิตช์คงที่, เครื่องบินทุกลำต้องเติมเชื้อเพลิง 5 แกลลอน

กฎเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เครื่องบินทุกลำแข่งขันบนพื้นฐานความเท่าเทียม และเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

สำหรับนักบินที่จะผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขัน ต้องมีคุณสมบัติผ่านมาตรฐานและข้อกำหนดระดับสูง และต้องผ่านการสอบและการบินทดสอบก่อนจะได้รับอนุญาตให้เข้าแข่งขัน ความปลอดภัยของนักบินถือเป็นเรื่องสำคัญเป็นอันดับแรก

เครื่องบินทุกลำจะเข้าแถวรอการปล่อยตัวบนรันเวย์ สตาร์ตเครื่องพร้อมกัน ซึ่งเรียกว่า “การจอดสตาร์ต” (Standing Start) เหมือนการแข่งขันรถยนต์ เมื่อกรรมการโบกธงเขียว แสดงว่าการแข่งขันเริ่มขึ้นแล้ว เครื่องบินแต่ละลำ

จะออกตัวเปิดฉากการแข่งขันในสนามบังคับซ้าย ซึ่งหมายถึงนักบินต้องบังคับเครื่องเลี้ยวซ้ายไปรอบ ๆ สนามแข่ง เหมือนในการแข่งรถ โดยแข่งกัน 8 รอบสนาม แต่ละรอบมีระยะทาง 5 กิโลเมตร ใช้เวลาต่ำกว่า 1 นาที ในการบินด้วยความเร็วสูงถึง 450 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องบินจะบินต่ำที่ความสูง 10 เมตร เพื่อเกาะเส้นทางและรักษาเรซซิ่งไลน์ให้แคบที่สุด

ในการบังคับเครื่องบิน-บินไปรอบ ๆ สนาม จะมีเครื่องหมายบอกทางหรือ “ไพลอน” ทั้งหมด 6 จุด กำหนดตามเส้นทางรูปวงรีของสนาม มีหมายเลข 1 ถึง 6 เพื่อสังเกตเห็นง่ายที่สุด นักบินจะบินแซงกันไปมาตลอดการแข่งขัน การแซงควรเกิดขึ้นด้านนอก (ฝั่งขวา) ความปลอดภัยในการบินเป็นความรับผิดชอบของเครื่องบินที่พยายามจะแซง ต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างสูงเพื่อความปลอดภัย

ในการบินแซงเครื่องบินลำอื่น นักบินต้องเร่งความเร็วกว่าอีกลำอย่างน้อย 7-10 ไมล์ต่อชั่วโมง และต้องตัดสินใจเด็ดขาดในความเร็วดังกล่าว อาจต้องใช้ความสูงเป็นพลังในการเร่งความเร็ว เครื่องบินจะไม่ได้รับอนุญาตให้บินด้านในแนวไพลอน หากนักบินตัดข้ามไพลอน จะถูกลงโทษ อาจถูกตัดสินจากความผิดพลาดครั้งใหญ่

สุดท้าย เครื่องบินลำแรกที่ผ่านเส้นชัย จะเป็นผู้ชนะ ครองความเป็นเจ้าความเร็ว-ที่เร็วที่สุดในโลก สำหรับการแข่งขัน ดำเนินการและควบคุมโดยสมาคมการแข่งขันเครื่องบินสูตร 1 ระหว่างประเทศ (IF1)

ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกีฬาชนิดนี้ และร่วมด้วยอีก 2 สมาคม คือ สมาคมการแข่งขันเครื่องบินสูตร (FARA) ในอังกฤษ และสมาคมนักบินเครื่องบินสูตร (APAF) ในฝรั่งเศส ทั้งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบให้มั่นใจว่าการแข่งขันปลอดภัย และรับรองตำแหน่งแชมป์โลกให้

การแข่งขันแอร์เรซ วัน แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ Pylon Race เป็นการแข่งขันบินตามจุดกํากับบินพร้อมกันหลายลํา Single Plane Timetrials เป็นการแข่งขันบินตามจุดกํากับแบบบินเดี่ยวเพื่อจับเวลา และ Great Long Distance Air Race เป็นการแข่งขันระยะไกล บินทําเวลาดีที่สุด โดยการแข่งขันที่จะเข้ามาแข่งในประเทศไทยจะเป็นแบบ Pylon Race ซึ่งเป็นการแข่งขันที่สร้างความตื่นเต้น ท้าทาย และสนุกสนานให้กับผู้ชม สำหรับเครื่องบินที่จะเข้าแข่งขันมีทั้งหมด 24 ลำ

นอกจากการแข่งขันแล้ว ยังมีการแสดงโชว์ลีลาฉวัดเฉวียน บินผาดแผลงกลางอากาศ และแสดงท่าอาวุธประกอบดนตรี จากกองทัพเรือ รวมทั้งมีศึกมวยไทยไฟต์มาให้ชมด้วย อีกทั้งเหล่าชมรมรถยนต์และมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบก์กว่า 200 คัน มารวมตัวกันที่สนามบินอู่ตะเภา

ใครเป็นแฟนคลับ “ทอม ริชาร์ด” แชมป์เก่าชาวอเมริกันระดับโลก รวมทั้งบรรดามือพระกาฬแห่งนภากาศ อย่าง จัสติน มีเดอร์ส, สตานิสลาส ดามิรอน, ฟิลิป โกฟอร์ธ และสตีฟ เทมเพิล ต้องไม่พลาดงานนี้การแข่งขันซ่าท้าความตาย !!