อันตราย!! แชร์ลูกบนออนไลน์

โดยนายมะดัน

“Sharenting” คือพฤติกรรมของพ่อแม่ที่โพสต์รูปลูกลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างของพฤติกรรมใหม่ของพ่อแม่ในยุคสมัยนี้

แม้มีข้อดีมากมาย เช่น เพื่อส่งข่าวสารให้ครอบครัวคนรู้จัก หรือเพื่อเก็บเป็นความทรงจำดีๆ แต่การโพสต์รูปลูกลงโซเชียลมีเดียแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เป็นโทษเช่นกัน พ่อแม่อาจจะเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ เช่น สิทธิในการถูกคุ้มครอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กจะต้องได้รับจากผู้เลี้ยงดู หรือการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก

แน่นอนว่า การลงโพสต์รูปของลูกที่ยังเป็นเด็กเล็กอยู่เป็นสิทธิของพ่อแม่ สามารถทำได้ แต่เมื่อลูกเริ่มมีพัฒนาการด้านตัวตน มีความรู้สึกนึกคิดที่ชัดเจน สามารถบอกความรู้สึกและแสดงความคิดเห็นได้ (ประมาณ 3 ขวบเป็นต้นไป)

ดังนั้น ก่อนโพสต์รูปของลูก พ่อแม่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงสิทธิของลูกที่พ่อแม่ต้องคุ้มครองด้วย สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก่อนตัดสินใจโพสต์รูปของลูกบนโลกออนไลน์ คือ

1.ขออนุญาตลูกก่อนโพสต์ เมื่อลูกโตพอที่จะบอกความรู้สึก หรือแสดงความคิดเห็นได้

2.เลือกรูปที่ลูกใส่เสื้อผ้าปิดมิดชิด เหมาะสม

3.ตั้งค่าโซเชียลมีเดียเป็นไพรเวซี่ เห็นกันเฉพาะกลุ่ม

4.ปิดโลเกชั่น

5.เขียนบรรยายภาพด้วยถ้อยคำที่ให้เกียรติลูก สุภาพและเหมาะสม

6.คุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของลูกให้เป็นความลับ

7.ที่สำคัญคือ ทุกรูปที่โพสต์ลงโซเซียลมีเดียไปแล้วจะไม่สามารถเรียกคืน หรือควบคุมได้

เมื่อกลางปีนี้ ธนาคาร Barclays แห่งอังกฤษ ได้ออกโรงเตือนว่า สิ่งที่พ่อแม่แบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลของลูกหลานบนโซเชียลมีเดียคือจุดอ่อนที่สุด ในการเสี่ยงต่อการฉ้อโกงออนไลน์และการขโมยตัวตน

ทางธนาคารระบุว่า พ่อแม่เด็กกำลังเปิดช่องโหว่ความมั่นคงปลอดภัยทางการเงินของเด็กๆ ในอนาคต ด้วยการแชร์ข้อมูลส่วนตัวจำนวนมากของเด็กๆ โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 อาจมีการฉ้อโกงทางออนไลน์เกือบ 670 ล้านปอนด์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยของธนาคารกล่าวว่า โซเชียลมีเดียทำให้การฉ้อโกงทางออนไลน์นี้ “ง่ายขึ้น”

ธนาคารจึงขอให้พ่อแม่ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวทางออนไลน์และเช็กให้แน่ใจว่ามีข้อมูลใดของลูกหลานบ้างที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ และที่สำคัญคือ คิดก่อนจะโพสต์อะไร และตรวจสอบบัญชีโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลสำคัญต่างๆ ตกไปอยู่ในมือผู้ไม่หวังดี

 

ที่มา : มติชนออนไลน์