ต้องมองเป้าหมายเดียวกัน

บทบรรณาธิการ

ถึงวันนี้แม้ว่าการใช้ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อผ่อนปรนปมปัญหาแรงงานต่างด้าว ด้วยการขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไปอีก 180 วัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2561 จะช่วยลดความตื่นตระหนกให้กับบรรดานายจ้าง ทั้งที่เป็นภาคครัวเรือน ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อม รวมทั้งภาคการเกษตรกรรม ลงได้บ้างในระดับหนึ่ง และในระหว่างนี้ก็เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงานที่เข้าประเทศ อย่างไม่ถูกต้องได้กลับไปดำเนินการให้ถูกต้อง และคำสั่งนี้ยังห้ามไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ จับ-ปรับ รวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบด้วย

แต่อีกด้านหนึ่งก็ดูเหมือนว่า ด้วยความเข้มข้นของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ฉบับนี้ ที่มีการกำหนดบทลงโทษไว้ค่อนข้างหนักและรุนแรง เช่น โทษปรับที่กำหนดขั้นต่ำไว้ตั้งแต่ 2,000-800,000 บาท ส่วนโทษจำคุกมีตั้งแต่ 6 เดือน ไปจนถึง 5 ปี หรือจำและปรับ แล้วแต่ฐานความผิด จึงทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาหลากหลายแง่มุม ซึ่งนักวิชาการหลาย ๆ คนมองว่าอาจจะเป็นช่องที่ทำให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายและนำไปสู่การเรียกเงิน ใต้โต๊ะจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามมา

นอกจากนี้จากค่าธรรมเนียม การนำเข้าแรงงานที่ค่อนข้างสูง ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้บรรดานายจ้างโอดครวญว่า กฎหมายแรงงานใหม่ฉบับนี้ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และกังวลว่า มาตรการผ่อนปรน 180 วัน ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันระยะเวลาที่กำหนด การดำเนินการแต่ละขั้นตอนนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก และล้วนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น

ในทางปฏิบัติ พ.ร.ก.ฉบับนี้ย่อมส่งผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน และอาจกล่าวได้ว่า กฎหมายแรงงานฉบับใหม่นี้ถือเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของประเทศ ในแง่ของการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้เป็นไปอย่างมีระบบและมี ประสิทธิภาพ จากเดิมที่ปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาให้ถูกต้อง และต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวต่างก็หย่อนยาน เรื่องนี้มานาน

แน่นอนว่าการแก้ปัญหาแรงงานครั้งนี้ แม้จะมีปัญหามีอุปสรรคต่าง ๆ อยู่บ้าง แต่เมื่อมองในภาพรวมของประเทศแล้ว นี่เป็นเรื่องที่จำเป็นและต้องลงมือทำ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมแรงร่วมใจ และมองเป้าหมายเดียวกันคือ การยกอันดับประเทศไทยให้พ้นจากการถูกจับตามองในเรื่องการค้ามนุษย์จากนานา ประเทศ ท้ายที่สุด อันดับของประเทศไทยในเรื่องการค้ามนุษย์จะต้องดีขึ้น

Advertisment