“บรรยง” ปาฐกถาสัมมนาประชาชาติ “รวมใจ…นำไทยยั่งยืน” แนะโครงสร้างของความยั่งยืน

วันที่ 23 สิงหาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “โครงสร้างของความยั่งยืน” ในงานสัมมนาเพื่อสังคม “รวมใจ…นำไทยยั่งยืน” จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

โดยกล่าวว่า สิ่งที่ผมจะนำเสนอในวันนี้ อาจเป็นแนวคิดที่ไม่ตรงหรือขัดกับกระแสเรื่อง SDGs เรื่อง CSRs ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรืออาจจะไม่สอดคล้องกับเนื้อหาขององค์ปาฐกท่านอื่นๆ โดยอาจเรียกได้ว่าเป็นแนวคิด Neoliberalism ที่ค่อนข้างถูกวิพากษ์อย่างมากว่าไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของโลก แต่ที่เสนอทั้งๆที่ส่วนตัวไม่อาจกล่าวอ้างยืนยันความถูกต้องทั้งหมด กับทั้งไม่มีข้อเสนอที่สมบูรณ์พร้อมใดๆ ก็เพราะหวังนำเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดการฉุกคิดและถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

ตามที่ทราบดีอยู่แล้วว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โลกเราถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยในการลดระดับความยากจน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสิ่งที่เรียกว่า Millennium Development Goals หรือ MDGs หรือเป้าหมาย 8 ประการที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดขึ้นในปี 2000 เพื่อให้ประเทศสมาชิกพยายามทำให้เป็นจริงภายในปี 2015 แต่ปรากฏว่า เพียงตั้งแต่ 5 ปีก่อนสิ้นกำหนดดังกล่าว โลกก็บรรลุเป้า MDGs ในเรื่องของการลดระดับประชากรที่อยู่ในเกณฑ์ยากจนอย่างมาก ในขณะที่เป้าอื่นถ้าไม่บรรลุผลเสียทีเดียว ก็มีความคืบหน้าไม่น้อย

ด้วยความสำเร็จจากโมเดลการตั้ง MDGs นี้ ในปี 2015 สหประชาชาติจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการตั้งเป้าหมายใหม่เพื่อมาแทนเป้า MDGs ที่ได้หมดอายุไป โดยจัดทำกระบวนการรับฟังความเห็นที่ครอบคลุมกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติ จนได้มาเป็นเป้า Sustainable Development Goals หรือ SDGs ที่ทุกประเทศได้ตกลงร่วมกันที่จะสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 17 เรื่อง รวม 169 เป้าหมาย ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2030 ตั้งแต่เรื่องความยากจน สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การศึกษา ไปจนกระทั่งความยุติธรรมในสังคม

ทั้งนี้ ด้วยจำนวนเป้าที่มากเป็นหลักร้อย อาจเป็นการง่ายที่จะสรุปว่า SDGs เป็นแค่อีกหนึ่งความพยายามขายฝันแบบลมๆ แล้งๆ แต่ถ้ามองอีกด้าน การที่รัฐบาลสารพัดความคิด สารพัดที่มาและสารพัดอุดมการณ์ในปัจจุบันสามารถมาเซ็นยอมรับข้อสันนิษฐานปัญหาและเป้าหมายชุดเดียวกันได้ก็ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในตัวอยู่แล้ว และย่อมจะกรุยทางไปสู่นโยบายและการปฏิบัติของประเทศต่างๆ ที่สอดคล้อง เป็นปึกแผ่นกันมากขึ้น ไม่ต่างอะไรกับเป้า MDGs ที่ในยามแรกประกาศ เคยถูกมองว่าเป็นเป้าที่ตั้งเพียงเพื่อความสบายใจมากกว่าหวังผลในทางปฏิบัติ แต่สุดท้ายกลับปรากฎว่าได้เป็นส่วนช่วยที่ทำให้โลกของเรามีอัตราการตายของเด็กน้อยลง มีคนเข้าถึงน้ำสะอาดได้มากขึ้น และทำให้ความยากจนหายไปได้อย่างมีนัยสำคัญ

ยิ่งกว่านั้น SDGs ยังไปไกลกว่า MDGs ในแง่ที่ว่า MDGs มีไว้เป็นเป้าเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เป้า SDGs กลับครอบคลุมประเทศทุกระดับเศรษฐกิจ อีกทั้งยังไม่มองสั้นเพียงการแก้ปัญหาของประชากรในยุคปัจจุบัน หากยังคำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชากรในอนาคต ตรงตามนิยามของคำ Sustainable Development ที่เป็นหัวใจของ SDGs ว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน คือการพัฒนาที่สามารถแก้ปัญหาของคนยุคปัจจุบัน ในลักษณะที่จะไม่กระทบถึงความสามารถในการแก้ปัญหาของคนในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โลกได้ตกลงร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมายที่ต้องการไปถึง กล่าวคือความยั่งยืนแล้ว สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าและอาจหาคำตอบร่วมกันยากกว่าคือ “วิธีการ” ที่เราควรใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกทุกวันนี้ยังถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าธุรกิจในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดหรือทุนนิยมที่มุ่งแสวงหากำไรเป็นสำคัญจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในมิติความยั่งยืนได้จริงหรือไม่ เราจึงได้เริ่มเห็นความพยายามผลักดันแนวคิดเรื่อง Corporate Social Responsibility หรือ CSR หรือแนวคิดเรื่อง Triple Bottom Lines กล่าวคือการเรียกร้องให้ธุรกิจต้องคำนึงถึง “บรรทัดสุดท้าย” หรือ Bottom Lines ในแง่สิ่งแวดล้อมและสังคม ประกอบกับ Bottom Lines ในด้านตัวเงินด้วย จนเดี๋ยวนี้ดูเป็นเรื่องปกติที่บริษัทห้างร้านต่างๆ จะตั้งตำแหน่ง ตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาสำหรับรับผิดชอบงาน CSR โดยเฉพาะ แม้กระทั่งบริษัทตรวจสอบหรือที่ปรึกษาต่างๆ ก็เริ่มมีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ CSR โดยทั่วไป

ในความเป็นจริง คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า กระแสสังคมในปัจจุบันดูจะโน้มเอียงไปในความเชื่อว่าธุรกิจที่ปราศจากแนวคิดเรื่อง CSR นั้นมิใช่ธุรกิจที่สมบูรณ์ และตัวการหลักของการพัฒนาที่ “ไม่ยั่งยืน” ในปัจจุบันก็คือธุรกิจประเภทที่มุ่งแสวงหากำไรให้มากที่สุดอย่างเดียวโดยไม่สนผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง ดังเช่นบ่อยครั้งที่เราได้ยินบทสรุปหรือถ้อยคำทำนองว่า “เพราะธุรกิจอยากสร้างเขื่อนมาขายไฟฟ้า ป่าจึงถูกทำลาย” “เพราะธุรกิจอยากสร้างโรงงานมาผลิตรถยนต์ โลกจึงร้อน” “เพราะธุรกิจอยากประหยัดต้นทุน ความเป็นอยู่ของแรงงานจึงต้องอนาถาเอน็จอนาถ” ฯลฯ ดังนั้น แนวคิดการสร้างความยั่งยืนในปัจจุบัน จึงเน้นหนักไปในทางผลักดันให้ธุรกิจพยายามเพิ่มมิติของ CSR เข้ามาแทนการทำธุรกิจ “แบบเดิมๆ” แม้เมื่อแรกที่ผมได้รับการทาบทามให้มาปาฐกถาในวันนี้ หัวข้อที่ถูกตั้งไว้ก็คือเรื่อง “ธุรกิจพันธุ์ใหม่” ซึ่งสื่อความหมายโดยนัยว่าในโลกที่ความเหลื่อมล้ำสูง ทรัพยากรร่อยหรอ และมีปัญหาทับซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างปัจจุบัน หากสังคมจะอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน ธุรกิจย่อมไม่อาจมีพฤติกรรมอย่างเดิมได้อีกต่อไป

โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าการทำสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยบำรุงรักษาโลกและสังคมเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่แสดงความงดงามและระดับจิตใจที่สูงส่งของมนุษยชาติอย่างยิ่ง กระนั้น ในฐานะที่ได้ทำงานในตลาดทุนและสังเกตการณ์พฤติกรรมแบบเดิมๆ ของธุรกิจมานานก่อนจะมีแนวคิดเรื่องความยั่งยืนและ CSR ผมเห็นว่าเราควรต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากก่อนจะดำเนินไปสู่ข้อสรุปว่า “ธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์” และ “ธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเอง” เพราะเราไม่ควรลืมว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ธุรกิจและพฤติกรรมแบบเดิมๆของธุรกิจที่แสวงหากำไรอย่างเดียวนั่นแหละถือเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ดังนั้น หากเราบอกว่าธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนพฤติกรรม โดยต้องหันมาคิดเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับกำไรด้วย เรากำลังเสี่ยงที่จะแทรกแซงหรือแม้กระทั่งบิดเบือนกลไกของระบบทุนนิยมทั้งหมด

นี่มิใช่ความพยายามที่จะปกป้องทุนนิยมโดยไร้เหตุผล เพราะแม้จะเป็นความจริงว่าธุรกิจในระบบทุนนิยมไม่เคยเห็นผลประโยชน์ของสังคมนำหน้ากำไรของตัวเอง แต่สิ่งนี้ไม่ได้แปลว่าสังคมไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการแสวงหากำไรของธุรกิจ หรือจะได้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อธุรกิจมีนโยบายทาง CSR เท่านั้น ตรงกันข้าม ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าที่โลกเราพัฒนาและคืบหน้าจากเป้า MDG ซึ่งมีมาตรฐานต่ำมาเป็นเป้า SDG ซึ่งมีมาตรฐานสูงในวันนี้ได้ ก็เพราะธุรกิจภายในระบบทุนนิยมมิได้มีพฤติกรรมอื่นใดเลยนอกเหนือจากการพยายามแสวงหากำไร เพียงแต่ในเมื่อภายใต้ระบบกฎหมายที่รัดกุมและการแข่งขันที่สมบูรณ์ ธุรกิจจะไม่สามารถสร้างกำไรอะไรได้เลย หากธุรกิจไม่สามารถสร้างประโยชน์ที่สังคมต้องการได้ โดยทั่วไปแล้ว กำไรของธุรกิจจึงหมายถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับสังคมอย่างหนึ่งอย่างใดเสมอมา

กล่าวโดยถึงที่สุด กลไกแสวงหากำไรแต่อย่างเดียวนี้เองคือสิ่งที่ทุนนิยมใช้สร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับมนุษยชาติในระดับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ นับจากช่วงปี 1800 ที่ทุนนิยมได้ถือกำเนิดขึ้น อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นจาก 37 ปี มาเป็น 78 ปีในปัจจุบัน เช่นเดียวกัน อัตราการตายของเด็กทารกได้ลดลงจากร้อยละ 43.3 มาเหลือเพียงร้อยละ 3.4 และแม้จำนวนคนในโลกจะถีบตัวอย่างรวดเร็วจากจำนวน 1 พันล้านคนเมื่อปี 1800 มาเป็น 7 พันล้านคนในปัจจุบัน คุณภาพชีวิตมนุษย์กลับไม่ได้เลวร้ายลง เพราะในช่วงเวลาเดียวกัน ทุนนิยมได้ทำให้ผลผลิตรวมของโลก (Gross World Product) เพิ่มขึ้นถึง 240 เท่า โรคร้ายแรง ตั้งแต่วัณโรค โปลิโอ ไทฟอยด์ หรือนิวมอเนียถูกขจัดหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญในแทบทุกมุมโลก ผลิตภาพทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมหาศาล จนกล่าวกันว่าคนที่ถือกันว่ายากจนในทุกวันนี้ สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่กษัตริย์ชาเลอเมญหรือแม้แต่มหาเศรษฐีร็อกกีเฟลเลอร์ได้แต่ฝันถึง อันที่จริง ในช่วงระหว่างปี 1985-2015 ชัยชนะของทุนนิยมเหนือสังคมนิยม ได้ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตดีที่สุดในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ GDP โลกโตจาก 12.7 ล้านล้านเหรียญมาเป็น 74.5 ล้านล้านเหรียญหรือกว่า 6 เท่าตัวในระยะเวลาเพียง 30 ปี ซึ่งต้องเรียกว่าสูงที่สุด และสูงมากกว่า 2 เท่าของอัตราการเติบโตในช่วงระยะเวลา 30 ปีใดๆ ของโลก

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงผลพวงจากอัจฉริยภาพในทางเทคโนโลยี มิฉะนั้นแล้ว ระบบเศรษฐกิจในระบอบสังคมนิยมของรัสเซียที่เต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอด คงสามารถสร้างความอยู่ดีกินดีของประชากรได้ประสบความสำเร็จกว่านี้ และสิ่งเหล่านี้ก็ไม่อาจเป็นเพียงผลพวงของจำนวนทรัพยากรที่มหาศาล มิฉะนั้นเราคงไม่เห็นรัฐทุนนิยมที่จนทรัพยากรอย่างฮ่องกงหรือสิงคโปร์กลายมาเป็นรัฐที่รวยที่สุด หรือเห็นเวเนซูเอลาซึ่งรวยทรัพยากรที่สุด กำลังแตกเป็นเสี่ยงๆ ไปต่อหน้าต่อตาเราด้วยระบบสังคมนิยม

น่าแปลกไหมครับว่าเหตุใดระบบที่ขึ้นอยู่กับการก้มหน้าก้มตาแสวงหากำไรของหน่วยธุรกิจพาเรามาถึงจุดนี้แทนที่จะเป็นความล่มสลาย คำอธิบายในเรื่องนี้มีอยู่ว่า ในขณะที่คนจำนวนไม่น้อยวาดภาพทุนนิยมว่าเป็นระบบที่เอาความโลภของมนุษย์เป็นตัวนำ คำบรรยายที่ถูกต้องกว่าคือทุนนิยมเป็นระบบที่เอาผลประโยชน์ร่วมกันของมนุษย์มาเป็นตัวนำ ตัวขับเคลื่อนต่างหาก ความโลภความต้องการของมนุษย์เพียงคนเดียวไม่มีความหมาย และไม่สามารถทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายอะไรให้สำเร็จได้เลยในระบบทุนนิยม ธุรกรรมในระบบทุนนิยมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมนุษย์สองคนสามารถหาวิธีบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันแบบต่างตอบแทนเท่านั้น นี่คือสาเหตุว่าทั้งๆที่ธุรกิจต้องการประหยัดให้มากที่สุดและทำกำไรให้มากที่สุด แต่สุดท้ายธุรกิจก็ยังต้องพยายามพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ เลี้ยงดูพนักงานให้ดี และปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามกฎหมายอยู่นั่นเอง ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเปลืองต้นทุนเท่าใด เพื่อให้ตอบต่อประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง

โดยสาเหตุที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะมีการกำหนดเป้าทาง CSR หรือความยั่งยืนให้กับธุรกิจเป็นพิเศษหรือไม่ หากเป้าเหล่านั้นคือสิ่งที่ตลาดต้องการ สุดท้ายตลาดย่อมจะกดดันให้ธุรกิจต้อง “ตอบ” ในมิติเหล่านั้น เหลียวตาดูรอบตัวท่านก็จะเห็นว่า หากตลาดผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ไม่ได้ใช้สารเคมี ในไม่ช้าธุรกิจย่อมต้องขายสินค้าไร้สารเคมี หากตลาดซัพพลายเออร์ต้องการพาร์ทเนอร์ที่เคารพสัญญา ในที่สุดธุรกิจก็ต้องปรับปรุงระบบบริหารสัญญาของตนให้แข่งขันได้ หากตลาดแรงงานเรียกร้องคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดีกว่าเดิม ในที่สุดธุรกิจย่อมต้องกลับไปปรับปรุงสวัสดิการและค่าจ้างเพื่อดึงดูดคนงาน ฯลฯ ดังนั้น ในขณะที่คนอาจรู้สึกว่าธุรกิจในระบบทุนนิยมเป็นสัตว์ร้ายไร้การควบคุมที่คิดจะสร้างความเสียหายอย่างไรก็ได้เพื่อสร้างกำไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ ธุรกิจจะไม่อาจสร้างกำไรอะไรได้เลย หากธุรกิจไม่ประสบผลสำเร็จในการตอบความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหลายให้ได้ครบถ้วน ในทางตรงกันข้าม หากตลาดยังไม่มีความต้องการในเรื่องใด การพยายามบังคับให้ธุรกิจลงทุนภายใต้หัวข้อ CSR มีแต่จะทำให้ธุรกิจสูญเสียทรัพยากรที่จะนำไปใช้ตอบตลาดในเรื่องอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านครับ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้แปลว่าเมื่อมีระบบทุนนิยมแล้ว เราไม่ต้องสนใจแก้ไขอะไรอีกต่อไป สถานการณ์ภัยพิบัติจากโลกร้อน และความเหลื่อมล้ำที่บดขยี้คุณภาพชีวิตและสร้างความขัดแย้งในประชากรของโลกชี้ชัดว่าระบบทุนนิยมเท่าที่เป็นอยู่ยังห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์ และมีงานที่เราต้องทำอีกมาก เพื่อสร้างระบบทุนนิยมที่ตอบสนองต่อความต้องการและข้อจำกัดของโลกได้ดี เร็ว และยั่งยืนกว่าเท่าที่เป็นอยู่ กระนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกไว้คือ การปรับปรุงระบบทุนนิยมต้องทำโดยความเข้าใจกลไกและธรรมชาติของมันอย่างถ่องแท้ หาไม่แล้วเราอาจประสบภาวะ “Throw the baby out with the bathwater” คือโยนเด็กทิ้งไปด้วยระหว่างที่พยายามจะเทน้ำเสีย โดยสำหรับตัวผมเอง ค่อนข้างมั่นใจว่าสิ่งที่สังคมต้องการในขณะนี้ไม่ใช่ “ธุรกิจพันธุ์ใหม่” มากเท่ากับ “โครงสร้าง” ที่จะโอบล้อมและชักนำธุรกิจพันธุ์เดิมไปสู่ความยั่งยืนที่สังคมต้องการได้อย่างเป็นธรรมชาติ โครงสร้างที่จะทำให้ทุนนิยมทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่สร้างความเสียหายมากเท่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ โครงสร้างเหล่านั้นจะต้องประกอบไปด้วยรายละเอียดและชิ้นส่วนใดบ้าง คงพ้นวิสัยที่ผมจะแสวงหาคำตอบได้ครบถ้วนในวันนี้ แต่ผมเชื่อว่ามีหลักการสำคัญ 2 ประการเป็นหัวใจของโครงสร้างดังกล่าว คือ

ประการแรก โครงสร้างนั้นต้องเป็นไปเพื่อลดการผูกขาดให้ได้มากที่สุด ตามที่ได้กล่าวข้างต้น กำไรของธุรกิจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อธุรกิจสามารถสร้างประโยชน์ที่ตอบความต้องการของสังคมได้ อย่างไรก็ตาม ความข้อนี้จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อ ธุรกิจนั้นดำเนินกิจการอยู่ในตลาดที่แข่งขันกันจริง เพราะหากไม่มีการแข่งขัน ธุรกิจย่อมอาจขูดรีดกำไรได้มหาศาลโดยไม่ต้องสร้างประโยชน์ใดๆที่มีมูลค่าใกล้เคียงกับราคานั้น จากเพียงข้อเท็จจริงว่าผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่น ในทางตรงกันข้าม ยิ่งการแข่งขันเข้มข้นเท่าไหร่ ก็จะเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการแต่ละรายต้องหาทางสร้างประโยชน์ให้ได้มากกว่า เร็วกว่า และดีกว่าผู้ประกอบการอื่นมานำเสนอสังคม ซึ่งย่อมเปิดโอกาสให้โลกเราได้เจอทางออกจากปัญหาที่หลากหลายขึ้น คุ้มค่าขึ้น และเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน อาหาร คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งใดๆก็ตามที่เป็นความต้องการของสังคม ณ ขณะนั้น รวมถึงความยั่งยืน

โดยนัยนี้ ในเมื่อตลาดเป็นสิ่งที่มีขึ้นบนโครงสร้างกฎหมาย ทุกครั้งที่สังคมต้องการออกกฎหมายหรือข้อกำหนดใดๆ จึงต้องคำนึงว่ากฎหมายเหล่านั้น ไม่ควรมีผลเป็นการกีดขวางการแข่งขันหรือสร้างภาระต่อการทำธุรกิจจนทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ยากขึ้น แม้กระทั่งการสร้างมาตรฐานทาง CSR เองก็ต้องระวังว่าจะไม่ถูกบิดเบือนจนกลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจใหญ่ใช้เป็นกำแพงป้องกันการเข้ามาของธุรกิจเล็กหรือคู่แข่งใหม่ หาไม่แล้วในนามของการคุ้มครองผู้บริโภค อาจมีการกำหนดให้ผู้ค้ายาต่างประเทศต้องผ่านมาตรฐานการตรวจสอบที่มากกว่าปกติ หรือในนามของการดูแลแรงงาน อาจมีการกีดกันไม่ให้นำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ได้มีมาตรฐานสวัสดิการแรงงานที่ดีพอ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสามารถในการทำลายการแข่งขัน ที่หากไม่มีเหตุผลสนับสนุนที่ดีพอ ย่อมทำให้สังคมอยู่ในสถานะที่แย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากตลาดไม่อาจทำงานได้อย่างเต็มที่

อนึ่ง โดยทั่วไปแล้ว รัฐย่อมลอยตัวและมีอำนาจผูกขาดในตัวเอง ไม่ตกอยู่ภายใต้กลไกของตลาด ดังนั้น หากเราหวังได้นวัตกรรมและคำตอบสำหรับปัญหาความต้องการต่างๆจากตลาด รัฐจึงจำต้องพยายามจำกัดขนาด บทบาท และอำนาจของตัวเองให้เหลือน้อยที่สุด รัฐวิสาหกิจควรได้รับการลดขนาด กระทรวงทบวงกรมควรทำหน้าที่เฉพาะในขอบข่ายที่จำเป็น มิฉะนั้นแล้ว รัฐและโครงการของรัฐย่อมมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากธุรกิจใหญ่มักมีโอกาสมากกว่าธุรกิจเล็กในการรับจ้างโครงการของรัฐ การขยายตัวของรัฐ ย่อมอาจหมายถึงโอกาสที่ธุรกิจใหญ่จะมีปฏิสัมพันธ์และครอบงำรัฐได้มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การบิดเบือนโครงสร้างของสังคมให้ไปในทิศทางที่จะจำกัดการแข่งขันและเอื้อให้เกิดการผูกขาดมากขึ้นไปอีก

ประการที่สอง ภายใต้ความเข้าใจผลกระทบทางร้ายต่อการแข่งขันอันเกิดจากขนาด บทบาท และอำนาจของรัฐข้างต้น เราต้องตระหนักว่าตลาดที่แข่งขันสมบูรณ์ไม่อาจมีอยู่จริงในทุกสถานการณ์ และราคาสินค้าและบริการบางอย่างอาจไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของทั้งสังคม ดังนั้น ในภาวะที่พิสูจน์ชัดว่าตลาดล้มเหลวหรือผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลไม่ครบถ้วน โครงสร้างทุนนิยมที่ดีจะต้องมีพื้นที่ให้รัฐเข้ามาวางนโยบายการควบคุมอุตสาหกรรม จัดหาสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ ไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ตลอดจนจัดเก็บภาษีและจัดสรรทรัพยากรเพื่อสร้างความเป็นธรรมในขอบเขตที่ทุนนิยมไม่อาจทำหน้าที่ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทุกการกระทำและการเข้ามาแทรกแซงของรัฐมีความเสี่ยงที่จะปิดกั้นการเกิดขึ้นของคำตอบที่ดีกว่าจากตลาด ดังนั้น โครงสร้างนี้จึงต้องยืดหยุ่นและมีการประเมินเหตุผลในการคงอยู่ของมาตรการภาครัฐอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงได้โดยเป็นพลวัตเท่าทันต่อสถานการณ์และข้อมูลที่เปลี่ยนไป

กล่าวโดยสรุป หากเราสามารถสร้างโครงสร้างที่มีการแข่งขันสมบูรณ์ และมีรัฐคอยประกบควบคุมอย่างเหมาะสมในพื้นที่ส่วนที่ตลาดล้มเหลว ทุนนิยมก็จะสามารถดำเนินไปได้โดยเข้มแข็ง ปลอดการบิดเบือน และทำหน้าที่เป็นแหล่งสร้างคำตอบสำหรับปัญหาต่างๆของสังคมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

แน่นอนครับ ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน การสร้างโครงสร้างทุนนิยมที่เข้มแข็งอาจไม่ใช่คำตอบเดียว หรือแม้กระทั่งคำตอบที่ทันการณ์สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือความยั่งยืน แต่ในขณะที่โลกที่เปลี่ยนแปลงผันผวนซับซ้อนทุกวันนี้ ไม่เปิดโอกาสให้มีการการันตีความสำเร็จของมาตรการใดได้ง่ายๆ อย่างน้อยการพัฒนาโครงสร้างของความยั่งยืนที่ต่อยอดจากระบบทุนนิยมที่มีอยู่แล้วถือเป็นหนทางแก้ปัญหาหนึ่งที่มีประวัติการให้ผลตอบแทนที่น่าประทับใจควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ในทางตรงกันข้าม หากเราละเลยคำตอบจากทุนนิยม เราอาจจะสูญเสียเครื่องมือสำคัญที่ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าช่วยให้โลกเราก้าวกระโดดมาจนถึงทุกวันนี้

ท่านผู้มีเกียรติครับ อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น ที่ผมพูดมายืดยาวทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นการโจมตีแนวคิดหรือความพยายามใดๆที่หลายฝ่ายดำเนินการอยู่ หากเป็นเพียงการเสนอแนวคิดว่าเราคงจำเป็นต้องใช้ความรอบคอบอย่างมากในการวางแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ การออกแบบโครงสร้างใหม่ที่ซับซ้อน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมที่เคยได้ผล จำเป็นจะต้องคำนึงถึงผลกระทบในทุกๆมิติอย่างกว้างขวางครบถ้วน เพราะในสถานการณ์ที่คับขันขนาดนี้ เราอาจไม่มีเวลาอีกแล้วสำหรับความผิดพลาด อย่างที่บัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติพูดไว้แหละครับว่าเราพลาดไม่ได้เพราะ เราไม่มีโลกใบที่สองให้แก้ตัว

ทุนนิยมอาจไม่ใช่สิ่งที่สวยงามที่สุด แต่ผมเชื่อว่าทุนนิยมน่าจะยังมีบทบาทสำคัญสำหรับแก้ปัญหาของโลกใบนี้ครับ

 

สำหรับบรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังสัมมนาเป็นจำนวนมาก


นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเสวนาพิเศษ หัวข้อ “รวมใจ นำไทยยั่งยืน” โดย “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ “บวรนันท์ ทองกัลยา” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล และบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด