คอลลิเออร์สฯ เผยคอนโดกรุงเทพแพงขึ้น 8.2% ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง 5.7% กระทบกำลังซื้อตลาดแมส

“คอลลิเออร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” สรุปสถิติปี 2561 ที่ผ่านมา ธุรกิจที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ จังหวัดเดียว มีคอนโดมิเนียมเปิดตัวสูงถึง 158 โครงการ 66,021 ยูนิต มูลค่าลงทุน 319,698 ล้านบาทเติบโต 19.2% จากปี 2560 ที่มีหน่วยเปิดตัวใหม่ 55,398 ยูนิต และถือว่าปี 2561 มีการเปิดตัวคอนโดสูงที่สุดในรอบ 30 ปี

ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 135,790 บาท/ตารางเมตร เติบโตหรือสูงขึน 8.2% เทียบกับราคาเฉลี่ยปี 2560 ที่มีราคาขายเฉลี่ย 125,500 บาทต่อตารางเมตร

ปัจจัยหลักเนื่องจากต้นทุนที่ดินในกรุงเทพฯ มีการปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ผู้ประกอบการต้องปรับราคาขายขึ้นเช่นเดียวกัน

สถิติอื่นๆ ในปี 2561 ในด้าน “ซัพพลายเปิดใหม่” มีทั้งหมด 66,021 ยูนิต

กลุ่มราคา 5 หมื่น-1 แสนบาท/ตารางเมตรพัฒนาออกมามาที่สุด 30,236 ยูนิต คิดเป็น 46% ของภาพรวม แต่เทียบกับปี 2560 ลดลง -6% จำนวน 32,219 ยูนิต

รองลงมา กลุ่มราคา 1-1.5 แสนบาท/ตารางเมตร มีจำนวน 16,972 ยูนิต เติบโต 26% จากปี 2560 ที่มีจำนวน 13,792 ยูนิต

กลุ่มราคา 1.5-2 แสนบาท/ตารางเมตรมี 7,620 ยูนิต สัดส่วน 11% ของซัพพลายรวม เติบโต 12.9% เทียบกับปี 2560

ทั้งนี้ กลุ่มราคา 1-2 แสนบาท/ตารางเมตร เติบโตขึ้นกว่า 20% เนื่องจากราคาที่ดินที่มีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในกรุงเทพฯ

จากข้อมูลพบว่า คอนโดฯ เปิดขายใหม่ในปี 2561 ช่วงราคา 5 หมื่น-1 แสนบาท/ตารางเมตร มีการพัฒนาออกมามากที่สุดเกือบทุกไตรมาส ส่วนใหญ่ทำเลอยู่นอกเขตใจกลางเมือง, ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ราคาที่ดินยังไม่สูงมาก

รองลงมา ราคา 1-1.5 แสนบาท/ตารางเมตร และราคา 1.5-2 แสนบาท/ตารางเมตร

แผนกวิจัยคอลลิเออร์ส ประเทศไทย มองว่า ราคาคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับราคาที่ดินที่แพงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก

การปรับขึ้นของราคาในช่วงดังกล่าวไม่สอดคล้องกับรายได้ผู้บริโภค ซึ่งไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับราคาขายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆปี

การดูดซับอุปทานคอนโดฯ ในตลาดมีแนวโน้มช้าลง จากตัวเลขหนี้สินครัวเรือน ของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ ไตรมาส 2/61 มีมูลค่าสูงถึง 12.34 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.7% เทียบกับ 3.8% และ 4.6% ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ

หนี้ครัวเรือนเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เป็นภาระของผู้บริโภค และฉุดความสามารถในการซื้อให้ต่ำลง เป็นปัญหาสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องทบทวนสำหรับการพัฒนาโครงการ

ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสังเกตพบว่า ในบางโครงการตั้งอยู่ในทำเลที่ดี รูปแบบโครงการน่าสนใจ ราคาขายอยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ในปี 2562 นี้ ถือว่าเป็นปีที่ท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทุกราย หากพัฒนาสินค้าตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจกำลังซื้อที่แท้จริง ไม่ปรับราคาขายให้สูงเกินกำลังซื้อสามารถเข้าถึงได้


สินค้าที่พัฒนาออกมาก็จะยังคงได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้ออย่างต่อเนื่อง