“พาณิชย์”นำทัพเอกชนบุกดูไบ น็อกดอร์ชิงมาร์เก็ตแชร์ “ผลไม้แปรรูป”

“พาณิชย์” นำทัพผู้ผลิตสินค้าผลไม้-ผลไม้แปรรูป ลุย knock door เปิดตลาดหวังช่วงชิงมาร์เก็ตแชร์จากอาเซียน ด้าน ม.หอการค้าฯแนะ 7 สูตรสำเร็จรุกตลาดดูไบ

นายวัชรศักดิ์ พรหมบุญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและบริหารระบบตลาด กรมการค้าภายใน เปิดเผยผลการนำคณะนักธุรกิจผลไม้แปรรูป 15 ราย เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมเคาะประตู (knock door) เปิดตลาดดูไบ ระหว่างวันที่ 7-11 ม.ค. 2562 ภายใต้ “โครงการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง” ว่า การนำผลไม้แปรรูปไปหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ เป็นไปตามนโยบาย demand driven ของรัฐบาล ซึ่งการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการแปรรูปผลไม้ของไทยที่เข้าถึงตลาดดูไบ ทางกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าของดูไบมีความสนใจในสินค้าของไทยอย่างมาก

“ตลาดดูไบเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อเป็นอันดับ 2 ของตะวันออกกลาง และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เป็นประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารและเครื่องดื่มจากต่างประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลไม้แปรรูปของไทยยังเข้ามาขายในตลาดดูไบน้อยมากเมื่อเทียบสินค้าเกษตรจากประเทศอาเซียน เช่น ฟิลิปฟินส์ และเวียดนามส่วนผลไม้แปรรูปไทยมีสัดส่วนเพียง 1% ในขณะที่ผลไม้แปรรูปฟิลิปปินส์มีสัดส่วนถึง 15% เช่น สับปะรดนำเข้าจากฟิลิปฟินส์ และอเมริกาใต้ มังคุดจากอินโดนีเซีย แตงโมจากบราซิล ฝรั่งและเงาะจากเวียดนาม”

ขณะที่ตลาดเครื่องดื่มจากผลไม้ในดูไบถือว่าใหญ่มาก แต่มีน้ำมะพร้าวของไทยที่เข้ามาขายของบางยี่ห้อเท่านั้น ส่วนใหญ่ดูไบนำเข้าน้ำผลไม้และแปรรูปมาจากฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อเมริกาใต้ เวียดนาม สิงคโปร์ และแคนาดา

สำหรับสินค้าที่ไทยนำไปเปิดตลาดดูไบครั้งนี้ ได้แก่ ทุเรียน มังคุค สับปะรด มะพร้าว มะนาว มะขามหวาน และขนมไทย รวมทั้งสินค้าเกษตรแปรรูปจาก 14 จังหวัดภาคใต้ โดยคณะนำผู้ประกอบการไทยได้พบผู้นำเข้าในรูปแบบ knock door ซึ่งมีผู้ประกอบการนำเข้าและศูนย์กระจายสินค้ารายใหญ่ของดูไบจาก 9 บริษัทเข้าร่วม

“การจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเพราะเกิดคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศ เบื้องต้นแล้ว เช่น น้ำมะนาว 2 ตู้คอนเทนเนอร์ มะขามหวาน 3 ตู้คอนเทนเนอร์ กล้วยแปรรูป 2 ตู้คอนเทนเนอร์ สับปะรดอบแห้ง 1 ตู้คอนเทนเนอร์ และสับปะรด 3 ตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งหมด 360 ตันต่อเดือน คิดเป็นมูลค่า 8.7 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละ 104 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการทำ MOU เพื่อทำการซื้อขายและตกลงเรื่องราคากันต่อไป”

ด้านนายปณต บุณยะโหตระ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำเมืองดูไบ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) กล่าวว่า คณะผู้แทนการค้าคณะนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างการเรียนรู้ในด้านตลาดต่างประเทศให้กับผู้ส่งออกรายใหม่จากต่างจังหวัด และยังช่วยขยายฐานผู้ประกอบการส่งออกให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นโครงการที่แสดงถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกรมการค้าภายในและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การนำสินค้าเข้ามาขายในดูไบมีคำถามที่สำคัญ คือ จะขายให้กับใคร เพราะประชากร 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในดูไบเป็นชาวต่างชาติที่อาศัย (expat) เพื่อมาขายแรงงานและทำงานด้านบริการ คิดเป็นร้อยละ 90% ไม่ว่าจะเป็นชาวอินเดีย 30% ปากีสถาน 13% และบังกลาเทศ 7% ตามลำดับ ที่เหลือเป็นชาว UAE หรือที่เรียก “Emirates” ซึ่งรายได้และรสนิยมของกลุ่มคนทั้งสองแตกต่างกัน

แนวทางที่ผู้ผลิตสินค้าผลไม้แปรรูปไทยต้องทำ คือ 1.นำอัตลักษณ์เด่นของผลไม้แปรรูปไทยออกประชาสัมพันธ์ให้คนดูไบรู้จักสินค้าไทยให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน อาจถึงขั้นต้องติดฉลากว่ามาจากประเทศไทย 2.ทำสัญญาโดยตรงกับห้างสรรพสินค้าในดูไบ เพื่อนำสินค้ามาขาย 3.ร่วมกับร้านอาหารไทยในดูไบเพื่อนำสินค้าไทยไปขาย 4.ร่วมงานแสดงสินค้าในดูไบ เช่น Gulfood ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าใหญ่ของดูไบ 5.ต้องทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและช่องทางการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง และ 6.แพ็กเกจจิ้ง ต้องมี QR code เพื่อสามารถสแกนข้อมูลของผลิตภัณฑ์ไทย 7.ต้องหาช่องทางการติดต่อซื้อขายผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะดูไบไม่สามารถใช้ไลน์ในการโทร.ติดต่อสื่อสาร

รายงานจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ปี 2558-2560 ประเทศ UAE นำเข้าสินค้าจากไทย 2,837 ล้านเหรียญ ลดลง 6% จากช่วง ที่เคยนำเข้า 3,068 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง และผลไม้สด เป็นต้น

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!