ค้าปลีกมะกันสกัด “อเมซอน” จับมือยักษ์ไอทีปั้นนวัตกรรม

คอลัมน์ Market Move

การแข่งขันระหว่างค้าปลีกออนไลน์และออฟไลน์ทวีความดุเดือดขึ้นตลอดปี 2561 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐซึ่งยักษ์อีคอมเมิร์ซ

“อเมซอน” นอกจากจะเปิด “อเมซอน โก” ร้านสะดวกซื้อแบบไร้แคชเชียร์ พร้อมเป้าขยายสาขากว่า 3,000 สาขา แล้วเข้าซื้อกิจการหนึ่งในค้าปลีกรายใหญ่อย่าง “โฮลฟู้ดส์” (Whole Foods) เจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 400 สาขา ก่อนประกาศลดราคาสินค้าหลายรายการ สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับค้าปลีกออฟไลน์รายอื่น ๆ ที่เพียงการแข่งขันช่องทางออนไลน์ก็สาหัสอยู่แล้ว เพื่อรับมือ ค้าปลีกแต่ละรายต่างพยายามหากลยุทธ์มาตอบโต้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กลยุทธ์แบบเกลือจิ้มเกลือ โดยหันไปจับมือกับยักษ์ไอทีอย่าง “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของอเมซอน เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริมแกร่งให้ร้านค้าออฟไลน์ของตนบ้าง

สำนักข่าวสายเทคโนโลยี “เดอะเวิร์จ” (The Verge) รายงานว่า “โครเกอร์” (Kroger) เชนซูเปอร์มาร์เก็ตที่ทำรายได้สูงสุดของสหรัฐ ด้วยซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ห้างสรรพสินค้า, ร้านอัญมณีและอื่น ๆ รวม 3,028 สาขาใน 37 รัฐ เป็นค้าปลีกออฟไลน์รายล่าสุดที่ประกาศจับมือ “ไมโครซอฟท์” เพื่อพัฒนาโมเดลร้านค้าปลีกอัจฉริยะ พร้อมเปิดโมเดลทดลอง 2 สาขาในเมืองเรดมอน รัฐวอชิงตัน และเมืองมอนโร รัฐโอไฮโอ ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของทั้งโครเกอร์และไมโครซอฟท์

ในร้านทั้ง 2 สาขาจะอัดแน่นไปด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เพียงมุ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักช็อป แต่ยังรวมไปถึงพนักงานอีกด้วย โดยมีไฮไลต์เป็นระบบนำทางภายในร้าน ซึ่งจะช่วยพาลูกค้าไปยังตำแหน่งสินค้าที่ต้องการ เพียงใส่รายการสินค้าที่ต้องการลงในแอปพลิเคชั่นมือถือหรือในอุปกรณ์พิเศษที่ร้านแจกให้ เมื่อลูกค้าเดินไปใกล้ชั้นวางสินค้า ป้ายราคาดิจิทัลที่ติดตั้งบนเชลฟ์จะแสดงสัญลักษณ์บอกให้นักช็อปรู้ตำแหน่งของสินค้าที่ต้องการ

ขณะเดียวกัน ป้ายราคาแบบดิจิทัลเหล่านี้ยังสามารถใช้แสดงโฆษณา ซึ่งจะนำเสนอสินค้าและโปรโมชั่นตามข้อมูลพฤติกรรมการช็อปปิ้งของลูกค้าแต่ละราย ช่วยเพิ่มโอกาสการขายสินค้า

สำหรับพนักงานร้าน ระบบนี้จะช่วยให้จัดหาสินค้าสำหรับบริการเพอร์ซันนอลช็อปปิ้ง หรือการฝากซื้อสินค้าได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจจับความผิดปกติในร้าน อาทิ กล้องวงจรปิดและเทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพที่คอยตรวจนับสินค้าบนชั้นวาง และแจ้งเตือนพนักงานเมื่อสินค้าเหลือน้อย รวมถึงเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิในตู้แช่ต่าง ๆ ที่จะเตือนหากอุณหภูมิสูงผิดปกติ ป้องกันไม่ให้สินค้าเสียหาย

โดยนอกจากร้านต้นแบบ 2 แห่งซึ่งจะใช้เทคโนโลยีใหม่นี้เต็มรูปแบบแล้ว ยังมีการทดลองบางส่วน เช่น ป้ายราคาดิจิทัลในร้านโครเกอร์อีก 92 สาขาด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกระแสข่าวว่า ไมโครซอฟท์ซุ่มพัฒนาระบบร้านค้าปลีกไร้แคชเชียร์ของตนเองด้วยเช่นกัน โดยจะใช้การติดตั้งกล้องบนรถช็อปปิ้งเพื่อติดตามการช็อป แทนการติดตั้งบนเพดานแบบของอเมซอน

ทั้งนี้ การจับมือยักษ์ไอทีไม่ใช่ความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมครั้งแรกของโครเกอร์ โดยเมื่อกลางปี 2561 ที่ผ่านมา ยักษ์ค้าปลีกได้ผนึกกำลังกับ “นิวโร” (Nuro) เพื่อพัฒนารถส่งสินค้าอัตโนมัติเพื่อใช้ในบริการดีลิเวอรี่ และประกาศแผนตั้งโกดังอัตโนมัติในรัฐโอไฮโอ

ขณะเดียวกัน ค้าปลีกรายอื่น ๆ ต่างเดินหน้าหาพันธมิตรมาเสริมแกร่งเช่นเดียวกัน โดย “วอลมาร์ต” ค้าปลีกใหญ่อีกราย ได้จับมือกับไมโครซอฟท์เช่นเดียวกัน โดยในแผนระยะ 5 ปี (2018-2022) จะเน้นความร่วมมือด้านการเก็บและวิเคราะห์บิ๊กดาต้า รวมถึงการพัฒนาเอไอและแมชีนเลิร์นนิ่ง ซึ่งใช้ประโยชน์จากเครือข่ายร้านค้าและสมาชิกของวอลมาร์ตกับเครือข่ายจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ของไมโครซอฟท์


จากนี้ต้องรอลุ้นกันว่าบรรดาค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐจะสามารถสกัดการรุกคืบมายังออฟไลน์ของอเมซอน ซึ่งปัจจุบันสามารถคุมส่วนแบ่ง 50% หรือครึ่งหนึ่งของตลาดอีคอมเมิร์ซสหรัฐแล้วได้หรือไม่ หรือจะต้องยอมให้อเมซอนกลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในทั้ง 2 ตลาด