ภาคประชาชนลุ้น! มติ ครม. 22 ม.ค. คุมค่ารักษารพ.เอกชน

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) กล่าวกรณีที่กระทรวงพาณิชย์จะนำมติคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ(กกร.)เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 22 มกราคม ว่า มพบ.จะจับตามติครม.เรื่องนี้อย่างใกล้ชิดว่าจะจริงใจหรือแหกตาประชาชน ซึ่งค่ายา วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ควรอยู่ภายใต้การควบคุมราคา( price controls)โดยยาได้ถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมมานาน แต่ที่ผ่านมาเพียงห้ามขายเกินสติกเกอร์ไพรซ์ แต่โรงพยาบาลจะติดราคาเท่าไหร่ก็ได้ ไม่สามารถกำกับราคายาได้ และมติกกร.ที่ผ่านมา ให้ควบคุมไปถึงวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย เช่น ข้อเข่าเทียม ลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น

เลขาฯมพบ. กล่าวอีกว่า ก่อนปีใหม่ในรอบแรกที่มีการหารือร่วมกันซึ่งมีตัวแทนรพ.เอกชนเข้าร่วมด้วยนั้นก็มีการเห็นชอบร่วมกัน กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นำเรื่องเข้ากกร.ในวันที่ 9 มกราคม 2562 แต่หลังจากนั้นรพ.เอกชนก็ออกมาคัดค้าน ซึ่งผู้บริโภคกแปลกใจว่าทำไมจึงมีการเปลี่ยนความคิด อย่างไรก็ตาม มพบ.คิดว่าการกำกับค่ารักษาพยายาลไม่ได้ส่งผลต่อการลงทุนของรพ.เอกชน เพราะสิ่งที่เสนอคือให้ดูจากต้นทุนของรพ. แล้วให้รัฐบาลพิจารณาว่าควรจะบวกกำไรเท่าไหร่ เพราะจากการที่มพบ.เข้าไปดูกำไรสุทธิ 9 เดือนของรพ.เอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่า บางแห่งมีกำไรสุทธิสูงถึง 33 .7 % และมีอยู่ระหว่าง 20 % และ 10% และสมาคมรพ.เอกชนพูดออกมาชัดมากว่าเป็นธุรกิจสุขภาพ จึงคิดว่าในเมื่อรัฐบาลกำกับธุรกิิจมากมาย เช่น น้ำมันก็คุมราคา ในส่วนธุรกิจสุขภาพที่เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งทำไมจะควบคุมค่ารักษาไม่ได้

“ถ้าครม.ไม่อนุมัติเรื่องนี้ก็ต้องรับผิดชอบ แสดงว่าสิ่งที่ทุกคนพูดว่ารพ.เอกชนอยู่เบื้องหลังการล้มมติกกร.ก็เป็นจริง เพราะว่ารพ.เอกชนเป็นธุรกิจหนึ่งที่รัฐต้องกำกับได้ ไม่ใช่กำกับไม่ได้เลย ตอนนี้ประชาชนเดือดร้อนจากค่ารักษาพยาบาลที่แพง จะส่งผลต่อสมองไหลของแพทย์ไปรพ.เอกชน ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ ถ้าครม.เบี้ยวก็ต้องรับผิดชอบ เราจะเดินหน้ารณรงค์ว่าครม.นี้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใหม่ แสดงว่าพรรคนี้ไม่เหมาะเป็นรัฐบาล ไม่เห็นความสำคัญของประชาชนที่เป็นผู้บริโภคที่เดือดร้อนจากค่ารักษาพยาบาลในรพ.เอกชนที่แพง และครม.ต้องวางบทบาทของตัวเองให้ดีในแง่กำกับธุรกิจนี้ที่ไม่ใช่ธุรกิจเล็ก อนาคตจะเป็นกิจการที่ผูกขาดได้ถ้าเราไม่จัดการอะไรเลย”น.ส.สารีกล่าว

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ตนติดตามและสนับสนุนให้มีการกำกับค่ารักษาพยาบาลและค่ายาในรพ.เอกชน ให้สำเร็จ มีการกำหนดเพดานค่ารักษาเอาไว้หลวมๆ เพื่อให้รพ.เอกชนยังสามารถอยู่ได้ ซึ่งก็ต้องรอดูว่าวันที่ 22 มกราคมนี้ ผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งประเด็นที่อยากเสนอคือการยกระดับอนุกรรมการที่จะมาศึกษาและพิจารณาหาข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการนี้ ให้เป็นคณะกรรมการกลาง (One Stop Servoce) คอยตรวจสอบเรื่องร้องเรียนค่ารักษาพยาบาลที่ยังเป็นข้อสงสัยอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องขึ้นในระหว่างที่มีการตรวจสอบ และจากสัดส่วนคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นนั้นจะเห็นว่ามี ตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมประกันภัย ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แล้ว แต่ยังขาดตัวแทนฝั่งผู้ป่วยก็อยากให้พิจารณาด้วยเช่นกัน

“ที่ผ่านมาเวลาเกิดข้อสงสัยว่าค่ารักษาที่แพงนั้นเกิดจากการรักษาเกินตำเป็นหรือไม่ หรือแพงเพราะการรักษาผิดพลาด อย่างไร พอร้องเรียนก็ต้องไปหลายหน่วยงานทั้งสคบ. กรมการค้าภายใน แพทยสภา เป็นต้น ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน ผู้เสียหายส่วนใหญ่หมดกำลังใจและถอยกันเอง บางครั้งเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลก็ต้องบอกว่าเราไม่มีทางชนะ เพราะในเอกสารเซ็นต์อนุญาตให้ทำการรักษา ให้ผ่าตัดต่างๆ นั้นมีการระบุถึงการยินยอมเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย คิดว่าตรงนี้ไม่เป็นธรรม จึงอยากให้มีกรรมการกลางมารับเรื่องร้องเรียน และตรวจสอบส่วนนี้ ระหว่างการตรวจสอบก็ไม่ควรมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น” นางปรียนันท์ กล่าว

 

ที่มา:มติชนออนไลน์