ค่าเงินบาทอ่อนค่า ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 22 มกราคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/1) ที่ระดับ 31.80/31.82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (21/1) ที่ระดับ 31.78/31.80 บาท/ดอลลาร์ ท่ามกลางการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ภายหลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ได้เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4 ของปี 2561 ขยายตัว 6.4% ส่วน GDP ตลอดปี 2561 ขยายตัวที่ระดับ 6.6% ซึ่งนับเป็นสถิติที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 28 ปี โดยปีที่ผ่านมาจีนได้เผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากสงครามการค้ากับสหรัฐที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่สหรัฐได้เพิ่มพิกัดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าหลายประเภทจากจีน ทั้งนี้แม้ GDP ของปี 2561 จะยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่กำหนดไว้ที่ 6.5% แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับการขยายตัวที่ 6.8% ในปี 2560 นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนจากการเข้าถือสกุลเงินปลอดภัย หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า

ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลก จะมีการขยายตัว 3.5% ในปี 2019 และ 3.6% ในปี 2020 ต่ำกว่าระดับ 3.7% ที่มีการคาดการณ์ไว้ในปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน พร้อมทั้งยังเตือนว่าเศรษฐกิจโลก ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการที่อังกฤษอาจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไม่มีการทำข้อตกลง ขณะที่เศรษฐกิจจีน อาจชะลอตัวลงมากกว่าที่คาด ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้น โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.77-31.84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/1) ที่ระดับ 1.1369/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/1) ที่ระดับ 1.1370/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโร ยังคงถูกกดดันจากความเสี่ยงกรณี Brexit โดยความคืบหน้าล่าสุด นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ปฏิเสธที่จะประกาศเลื่อนระยะเวลาการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ออกไปจากกำหนดเดิม รวมทั้งไม่สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป โดยไม่มีการทำข้อตกลง ซึ่งจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยในขณะนี้ นายกรัฐมนตรีเมย์ กำลังเผชิญแรงกดดันจากพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่กำลังร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้นำอังกฤษต้องเรียกร้องให้อียูขยายเส้นตายการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปออกไป เนื่องจากหากยังไม่มีข้อตกลงเกิดขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ทางรัฐสภาจะสามารถดำเนินการจัดการในขั้นตอนต่อไปได้ รวมถึงการบีบให้ขยายเวลาการเจรจาออกไปจากกำหนดการเดิมในวันที่ 29 มีนาคม สำหรับระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1347-1.1382 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1364/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/1) ที่ระดับ  109.62/64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (21/1) ที่ 109.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ จากสภาวะแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจาก IMF รวมถึงความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ Brexit ที่ยังคงอยู่ ทำให้นักลงทุนได้เข้าซื้อสกุลเงินปลอดภัยและลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารระหว่างวันที่ 22-23 มกราคมนี้ โดยคาดการณ์ว่าจะปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2562 ลง ซึ่งจะทำให้เป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% เป็นเรื่องที่ห่างไกลออกไป สำหรับระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.33-109.64 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.45/46 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือน ธ.ค. (22/1) ดัชนีการผลิตเดือน ม.ค. จากเฟดสาขาริชมอนด์ (23/1) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (24/1) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต, ภาคบริการเบื้องต้นเดือน ม.ค. จากมาร์กิต (24/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.475/-1.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และัอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0/+1.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ