ยักษ์ “ค้าปลีก” พลิกโฉมธุรกิจ ตั้งทีมเชื่อมเทคโนโลยี-ชุมชน

ค้าปลีก เดินหน้าเชื่อมซัพพลายเชน-เทคโนโลยี ยกระดับเกษตรกรรายย่อย สร้างความยั่งยืนบนห่วงโซ่อาหาร เทสโก้-ซี.พี.-แม็คโคร ตั้งทีมสร้างธุรกิจเชื่อมชุมชน

ปัจจุบันค้าปลีกถือว่ามีบทบาทสำคัญเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอาหารซึ่งเป็น “ห่วงโซ่อุปทาน” ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ที่มีความสำคัญต่อผู้บริโภคจำนวนมาก และภายใต้การขับเคลื่อนธุรกิจจะต้องมีตัวแปรสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในอนาคต

ในงานเสวนา “เส้นทางอาหารแห่งอนาคต ธุรกิจค้าปลีกกับความยั่งยืนทางสังคม” จัดขึ้นโดยสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยหนึ่งหัวข้อสำคัญที่ถูกหยิบยกมาเสวนา คือ เรื่อง “บูรณาการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในนโยบายและแนวทางการจัดซื้อ” โดยร่วมนำเสนอทางออกสำหรับความยั่งยืนห่วงโซ่อาหารหรือระบบซัพพลายเชนประเทศไทย

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการ บริษัท เทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่า ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) เป็นส่วนหนึ่งของค้าปลีกและค้าส่ง ซึ่งมีมูลค่าถึง 2.2 ล้านล้านบาท นอกจากมูลค่าตลาดขนาดใหญ่แล้ว ธุรกิจค้าปลีกยังมีความสำคัญต่อผู้ผลิต เกษตรกรรายย่อย และแรงงานในภาคเกษตร ที่ยังมีความยากจน ซึ่งในฐานะผู้ประกอบรายใหญ่ จึงลงพื้นที่ไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง

สอดคล้องกับนางสาวปุณฑริกา สุสัณฐิตพงษ์ ผู้จัดการอาวุโส แผนกสื่อสารองค์กร บริษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า กลุ่มสินค้าภายใต้การพัฒนาของเทสโก้ โลตัส หรือ one brand แบ่งเป็นอาหารสด (fresh foog) และอาหารแห้ง (dry groceries) โดยอาหารสดได้ซื้อสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยเทสโก้ โลตัส ได้สร้างฟาร์ม “แมเนเจอร์” เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการดูแลตั้งแต่การวางแผนจำนวนผลการผลิต ร่วมกับเกษตรกร เพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด

โดยปีที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส ได้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรง จำนวน 2.4 แสนตัน และหลังจากนี้มีแนวโน้มขยายความร่วมมือและพัฒนาสินค้า เพื่อผลผลิตที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มอาหารแห้ง ส่วนใหญ่สินค้าจะมาจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อรองรับการบริโภคที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนเมือง

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรไทย ซัพพลายเออร์ทั้งรายย่อยรายใหญ่ ภายใต้การบริหารจัดการสินค้าทั้งหมด 2 กลุ่ม ได้แก่ แบรนด์ทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามที่บริษัทแม่ที่ประเทศอังกฤษกำหนด ข้อกฎหมายของมาตรฐานสินค้าและการบริการในประเทศไทย

ด้านนางสาวจีระณี จันทร์รุ่นอุทัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนสิ่งแวดล้อมสำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจอาหารภายใต้ ซีพีเอฟ ภายใต้กลยุทธ์ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และน้ำป่ายังคงอยู่ ถือว่าเป็นแนวทางสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ และได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรรายย่อย หรือพาร์ตเนอร์ เพื่อช่วยสนับสนุนข้อมูล เทคโนโลยีการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพ ในการดำเนินงานที่เรียกว่า “4PS” ได้แก่ people process product และ perfor-mance ที่ส่งมอบให้พันธมิตรทั้งรายย่อยและรายใหญ่ เพื่อยึดเป็นแนวปฏิบัติสู่ความยั่งยืนบนห่วงโซ่อาหาร

เช่นเดียวกับนางสาวจุฑารัตน์ พัฒนาทร รองผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยาม แม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม็คโคร มุ่งขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานด้วยนโยบายความเป็นธรรมและโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ พร้อมเน้นกลุ่มสินค้าที่อาจสร้างผลกระทบในตลาด ยกตัวอย่างเช่น ส้ม และแตงโม ที่มีอุปสรรคด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เช่น เรื่องสารตกค้างต่าง ๆ

ดังนั้น แม็คโคร จึงให้ความสำคัญในการตรวจสอบสินค้าตั้งแต่แหล่งผลิต และผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสินค้าย้อนหลังได้ รวมทั้งการสร้างความยั่งยืนทางด้านอาหารจะต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!