อาชีพใหม่มาแรง “ผู้ประนอม”

เมื่อเกิดกรณีพิพาทที่ไม่สามารถหาทางออกได้ คุณรู้หรือไม่ว่า สถาบันอนุญาโตตุลาการหรือ Thailand Arbitration Center (THAC) ไม่เพียงช่วยไกล่เกลี่ยทุกข้อพิพาท แต่ยังมุ่งสร้างความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในระบบอนุญาโตตุลาการไทย จากจุดเริ่มต้นในการระงับข้อพิพาททางพาณิชย์ที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาข้อพิพาทได้สะดวก รวดเร็ว ไม่สิ้นเปลืองเวลา รวมถึงช่วยลดปริมาณคดีความที่จะขึ้นสู่ศาล จนถึงปัจจุบันรัฐบาลยิ่งตระหนักในความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานระบบอนุญาโตตุลาการให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และมุ่งมั่นสู่การยกระดับการระงับข้อพิพาททางเลือกของประเทศให้เป็นศูนย์กลางในการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาทในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

วันนี้ สถาบันอนุญาโตตุลาการขอนำเสนออาชีพ “ผู้ประนอมข้อพิพาท”

“ผู้ประนอมข้อพิพาท” คือบุคคลกลางผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือคู่พิพาทในการเจรจาหาข้อยุติร่วมกัน สนับสนุนการเจรจาระหว่างคู่ความให้บรรลุถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่การระงับข้อพิพาท โดยจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ปราศจากอคติ มีความรู้และเข้าใจในปรัชญาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างถ่องแท้และมีความเป็นกลาง

ใครคือผู้ที่เหมาะสมกับการเป็นผู้ประนอม?

การแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้ประนอมนั้นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม ความยอมรับจากบุคคลทั่วไปและความพอใจของคู่ความทุกฝ่าย โดย สถาบันอนุญาโตตุลาการได้มีการคัดสรรบุคคลที่จะเข้ามาเป็นผู้ประนอม ข้อพิพาทของสถาบันเป็นอย่างดี โดยพิจารณาจากระดับความรู้ความสามารถ ระดับการศึกษา ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในข้อพิพาทแต่ละประเภท ประสบการณ์ใน การระงับข้อพิพาท และเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในสังคม ซึ่งพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นผู้คัดเลือก

นอกจากนี้ ผู้ประนอมยังต้องมีจิตวิทยาหรือทักษะในการพูด เพราะต้องเปิดเผยความขัดแย้งในผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาความลับก็สำคัญเช่นกัน ผู้ประนอมต้องเก็บรักษาข้อมูลต่างๆ ที่ตนรู้จากการประนอม