2 ปี ยืนดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ส่งเศรษฐกิจโต 3%…ปีนี้ลุ้น “บินขึ้น”

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน การทำนโยบายการเงินแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เพิ่งประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 2 (รอบ มิ.ย. 2560) ในรอบปีนี้ ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.00-1.25% เพื่อให้รับกับเศรษฐกิจที่มีสัญญาณดีขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ระหว่างฟื้นตัว แบงก์ชาติจึงยังคงจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนปรนต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 17 หรือในช่วงเวลากว่า 2 ปี โดยล่าสุด (5 ก.ค. 2560) ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ทำให้ขณะนี้ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐ “แคบ” ลง หรือห่างกันแค่ 0.25% ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังทั้งในและต่างประเทศอยู่

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กนง.มีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง หลังจากช่วงที่ผ่านมา ภาคส่งออกขยายตัวดีขึ้นมากในหลายกลุ่มสินค้า ภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็ว เมื่อดูภาคบริโภคเอกชนก็ยังขยายตัวได้ตามรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น แต่มีรายได้ของแรงงานในภาคการผลิตที่ยังไม่ได้รับผลดีอย่างชัดเจนจากการส่งออกที่ปรับดีขึ้น จึงส่งผลให้กำลังซื้อยัง “ไม่เข้มแข็ง” ด้านภาคลงทุนเอกชนก็ยังคงฟื้นตัวช้า ๆ แต่ว่ายังมีการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยอยู่

พร้อมกันนี้ ได้ทำการปรับประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจ “ใหม่” ในรายงานนโยบายการเงินเดือน มิ.ย. 2560 โดยปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.5% โดยเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกขึ้นมาอยู่ที่ 5% จากเดิมคาดอยู่ที่ 2.2%

แม้จะมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวดูดีขึ้น แต่ก็ยังมีปม การขยายตัวของอุปสงค์ที่ยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ขณะที่ภาคการลงทุนของรัฐก็มีการปรับคาดการณ์ลดลง เนื่องจากมีบางโครงการรถไฟฟ้าเลื่อนลงทุน ทำให้มีการปรับลดคาดการณ์ด้านการลงทุนภาคเอกชนลงไปอีก

นอกจากนี้ ได้ปรับลดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดเหลือ 0.08% หลังจากช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อ ได้หลุดกรอบเป้าหมาย เป็นบางช่วง เพราะราคาน้ำมันโลกที่ต่ำลงและราคาอาหารสดปรับลดลง

ด้านความเสี่ยงที่ กนง.ให้จับตาใกล้ชิด คือปัจจัยต่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ นโยบายการเงินประเทศหลัก การปรับโครงสร้างจีน ฯลฯ และยังมีผลกระทบจากสถานการณ์แรงงานต่างด้าว ปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น หรือเงินร้อน ที่จะกดดันทิศทางค่าเงินบาทผันผวนอยู่ นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูง เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ และยิ่งตอนนี้เกิดภาวะดอกเบี้ยแท้จริงติดลบด้วย ขณะที่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีก็ยังน่าห่วง

ขณะที่ “ดร.เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปีนี้ กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไปถึงปลายปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ยังจับตาดอกเบี้ยเฟดที่ปีนี้น่าจะปรับขึ้นอีก 1 ครั้ง

“อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะมีทิศทางปรับขึ้นชัดเจนในปีหน้า โดยเฟดน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ ตามด้วยธนาคารกลางยุโรป (ECB) และสุดท้ายคือธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่วนไทยน่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะยังรอได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังต่ำ คาดว่าทั้งปี 2560 อยู่ที่ 0.8% ส่วนคาดการณ์ค่าเงินบาท ณ สิ้นปีนี้อยู่ที่ 34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก และจับตาการเคลื่อนไหวปรับลดงบดุลลง”

ส่วนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.4% เนื่องจากได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกโต 3.8% ส่วนครึ่งปีแรกเห็นทิศทางการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น จึงคาดทั้งปีเพิ่มขึ้นที่ 2.7% แต่ปรับลดการลงทุนภาคเอกชนเหลือ 0.5%

ปัจจัยท้าทายในครึ่งปีหลังนี้ ได้แก่ 1.การลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัวดี 2.แนวโน้มราคาน้ำมันโลกที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตร 3.รายได้เกษตรเริ่มชะลอตัวจากครึ่งปีแรก และ 4.กระบวนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีไทยราว 0.3%

ในส่วนสินเชื่อรวมในปีนี้คงคาดเติบโต 4.0% มาจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่อยู่ในภาคส่งออก ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะขึ้นสูงสุดในไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 3.07% เพราะครึ่งปีแรกหนี้เสียที่เกิดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเอสเอ็มอี

ด้าน นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงิน ธนาคารทหารไทย คาดว่าแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสต่ำกว่าดอกเบี้ยเฟด เนื่องจากคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยปลายปีนี้เฟดน่าจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.25-1.5% ซึ่งเท่ากับดอกเบี้ยนโยบายไทย และปีหน้าเฟดจะปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 2.0% ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกจากไทย กระทบต่อค่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าที่ 33.60-33.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

แม้เสียงรัฐบาลจะบอกว่า ภาพเศรษฐกิจไทยกำลังจะบินขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีปัจจัยรอบด้านรุมเร้าให้ลุ้นระทึก