สหกรณ์บ้านพังดาน โมเดลตัวอย่างชาวสวนยาง

คอลัมน์ ตามรอยฟ้า

ปัญหาของเกษตรกร นอกจากเรื่องดินฟ้า อากาศที่ยากจะควบคุมแล้ว ยังมีเรื่องของราคาผลผลิตที่ผันผวนพอ ๆ กับภูมิอากาศ ทำให้ลูกหลานเกษตรกรต้องคิดแล้ว คิดอีกว่า การกลับไปสู่วิถีเกษตรที่สืบทอดกันมาจะไปได้ตลอดรอดฝั่งแน่หรือ ?

แต่ครั้นจะให้เกษตรกรเปลี่ยนวิถีมาทำอาชีพอื่นก็เป็นเรื่องยาก ทั้งเรื่องของการเรียนรู้ใหม่ เริ่มต้นจากศูนย์อีกครั้ง และความไม่เชื่อมั่นในเรื่องของตลาด ว่าทำแล้วจะขายที่ไหน ? จะขายได้จริงหรือ ?

ทุกศึกย่อมต้องมีผู้กล้า เช่นเดียวกับการแก้ปัญหายางพาราในพื้นที่จังหวัดพัทลุง ที่ต้องการบุคคลต้นแบบ คนลองผิดลองถูกให้เห็นชัดก่อน

“ชาย คงแก้ว” ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพัทลุง และผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดาน ต.นาขยาด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งริเริ่มแปรรูปหมอนยางพาราเพื่อสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตยางพารา นับเป็นเจ้าแรกที่ริเริ่มการผลิตหมอนยางพาราในระดับชุมชนโดยคนท้องถิ่น

“ชาย” เล่าว่า ในช่วงปี 2556 ราคายางพาราตกต่ำถึงขีดสุด จากราคา 180 บาท/กก. เหลือ 30 บาท/กก. ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก เขาเองในฐานะเจ้าหน้าที่จึงไม่ได้วางเฉย ส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกผักเสริม เช่น ผักเหลียง สละ โดยลดพื้นที่ปลูกยางลง หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นควบคู่กัน

แต่ก็ไม่ได้ผล เนื่องจากพืชเสริมนั้นไม่สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ส่วนพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ชาวบ้านขาดทั้งประสบการณ์และความมั่นใจเรื่องการตลาด นอกจากนี้ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันก็ประสบปัญหาเรื่องราคาซ้ำซาก

บวกกับวิถีชีวิตของคนในภาคใต้ผูกพัน คุ้นเคยการทำสวนยางพารา สืบทอดกันมานานกว่า 100 ปี จึงยากที่จะเปลี่ยนแปลง

เมื่อเปลี่ยนไม่ได้ เขาจึงมองว่า “การปรับ” น่าจะเป็นทางออก โดยได้ไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่า จากน้ำยางดิบสู่โรงงานผลิตน้ำยางข้น แปรสภาพสู่ผลิตภัณฑ์ยางในรูปแบบต่าง ๆ

เมื่อได้งบประมาณยุทธศาสตร์ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จึงลงทุนโรงงานทำน้ำยางข้นในพื้นที่ ต.พนมวังก์ เพื่อรองรับผลผลิตในพื้นที่ก่อน แต่เมื่อลงพื้นที่พบว่ามีคนบางกลุ่มไม่ต้องการให้เกิดโรงงานขึ้นในชุมชนของตน เพราะกังวลปัญหาเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันไม่ว่าจะย้ายพื้นที่ไปที่ไหนก็จะมีข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มที่ต้องการโรงงานแปรรูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและกลุ่มที่ต่อต้าน

ในวันนั้น “ชาย” ถูกชี้หน้า พร้อมคำถามว่า “ถ้าหากดีจริง ทำไมไม่ไปทำที่บ้านของตนเอง” จึงเข้าใจและตระหนักได้ว่า ก่อนจะเกิดงานใหญ่ต้องเริ่มจากงานเล็กก่อน

ในเมื่อโรงงานสร้างความขัดแย้ง หน้าที่ของเขาทั้งหน้าที่ของข้าราชการและผู้ริเริ่ม คือการสร้างความเข้าใจ และทำให้เห็นเป็นตัวอย่างก่อน ค่อย ๆ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนในพื้นที่ เมื่อชาวบ้านเห็นว่าเป็นไปได้ เห็นว่าสามารถแก้ปัญหาได้ สุดท้ายก็จะเริ่มทำเอง

“ชาย” ใช้เงินส่วนตัว 3 แสนบาท ตั้งโรงงานขนาดเล็ก โดยไปศึกษาเครื่องจักรจากสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร แล้วนำมาลดสเกลลงจากเครื่องปั่นน้ำยาง 100 ลิตร สู่เครื่องปั่นน้ำยางขนาด 30 ลิตร และเครื่องมือขึ้นรูปอื่น ๆ เริ่มจำหน่ายในชุมชนใช้กันเองในหมู่ญาติ จากนั้นมีการบอกต่อ แนะนำกันปากต่อปากอย่างต่อเนื่อง

“แรกเริ่มเดิมทีที่มีคนมาซื้อเพราะเขาสงสัย ว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร สงสัยว่ามันจะดีจริงหรือ เมื่อสงสัยเขาก็อยากรู้ และเมื่อเริ่มมีคนนำไปใช้ แล้วแนะนำปากต่อปาก ทำให้ชุมชนอื่นมาดูงาน ซึ่งเรายินดีมากที่เขาจะเข้ามาศึกษาดูงาน และยินดียิ่งขึ้นหากเขาต้องการนำโมเดลนี้ไปทำที่ชุมชนของเขา เราเปิดกว้างให้เขาเข้ามาดูทุกกระบวนการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย คุณจะเอาช่างกลึง ช่างเหล็กมาถอดแบบไปทำเพื่อลดค่าใช้จ่ายก็ได้ หรือหากคุณอยู่ไกลก็สามารถศึกษาได้จากสถาบันวิจัยยาง เพราะตอนนี้เครื่องจักรขนาดเล็กแบบที่เรามี ทางสถาบันวิจัยยางก็เริ่มทำไว้แล้ว คุณทำแล้วไม่มีที่ขาย เราขายให้ได้”

“เราไม่เก่ง แต่ไม่ปิดตัวเองที่จะได้เรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้สนใจ จากวันนั้นมาเรามีผู้มาเยือนมากกว่า 20,000 คน/เดือน จากทั่วสารทิศ เกิดโรงงานที่นำโมเดลเราไปใช้กว่า 7 จังหวัดในภาคใต้ ไม่ต่ำกว่า 20 โรงงาน”

หลายครั้งมีกลุ่มผู้มาเยือนที่ไม่คิดว่าจะเกี่ยวกับการทำงาน แต่ได้แลกเปลี่ยน ได้พัฒนาสินค้า เช่น คณะจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มนี้ชี้ให้เราเห็นถึงตลาดมุสลิม จนทำให้เราพัฒนาผ้ารองละหมาด ที่นอนพกพาสำหรับผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ ชมรมปั่นจักรยาน ทำให้เราพัฒนาเบาะอานจักรยานจากยางพารา ช่วยลดแรงกระแทก กลุ่มบิ๊กไบก์ ทำให้เราพัฒนาชุดกันกระแทก ทุกอย่างค่อย ๆ เกิดขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราเปิดรับ จากขายในชุมชน เราก็ขยายกลุ่มลูกค้าออกไปได้เรื่อย ๆ

“แม้เป็นเพียงปรากฏการณ์เล็ก ๆ ไม่ได้ทำให้กลไกการตลาดเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องการสร้างตัวอย่างให้เห็นว่า จะมัวรอให้รัฐบาลมาอุดหนุนอุ้มชูตลอดไปไม่ได้ พื้นที่ปลูกยางพาราทั่วประเทศมีมากถึง 22 ล้านไร่ ต่อให้รัฐบาลอุดหนุนกิโลกรัมละ 10 บาท ในอัตราสวนละ 2 กก.ต่อวัน รัฐต้องจ่าย 440 ล้านบาท/วัน ไม่มีทางยั่งยืน และไม่มีทางที่จะทำได้ตลอดไป เราต้องหาทางออก ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบสู่ผลิตภัณฑ์”


ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพสหกรณ์บ้านพังดาน สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนได้ไม่น้อยกว่า 50 คน ทำงานในโรงงานฝ่ายผลิต 6 คน ตัดแต่งบรรจุภัณฑ์ 6 คน ตัดเย็บปลอกหมอน 17 คน และทำการตลาด รับหมอนไปขายต่ออีก 20 คน ส่งผลให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่ม ชดเชยการขาดรายได้จากราคายางพาราตกต่ำ ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท/คน/เดือน นอกจากจะเป็นทางเลือกสำหรับชาวสวนแล้ว ยังเป็นแนวทางสร้างความเชื่อมั่นในอาชีพทำสวนยางต่อไปด้วย