ขุนคลังชงเลื่อน IFRS9 อีก 5 ปี แบงก์รัฐไม่พร้อมเริ่มปีหน้า

ขุนคลังไฟเขียวชง ครม.ขยายเวลาบังคับใช้ IFRS9 ในส่วนแบงก์รัฐออกไปอีก 5 ปีถึงปี 2568 ฟาก ธ.ก.ส.โล่งอกรัฐขยายเวลาให้ แจงประเมินหนี้เสียในอนาคตยุ่งยากต้องย้อนข้อมูล 60 ปี ระบุพอร์ตสินเชื่อตามนโยบายรัฐป่วน พร้อมคาดปีบัญชี’62 กำไรหดร่วมพันล้าน เหตุยอมเฉือนเนื้ออุ้มเกษตรกร 3 ล้านราย

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้เห็นชอบให้ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้เลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ออกไปอีก 5 ปี เป็นในปี 2568 จากเดิมที่ขยายไปแค่ 1 ปี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2563 อย่างไรก็ดี หากแบงก์ไหนมีความพร้อม ก็ให้ดำเนินการไปตามมาตรฐานได้เลย

“ข้อเสนอคือให้ขยายเวลาสำหรับ SFIs ออกไปอีก 5 ปี แต่ถ้าแบงก์ไหนพร้อมก็ให้ทำให้เสร็จไปก่อนเลย เพราะไม่ว่าอย่างไรในที่สุดก็ต้องตั้งสำรองให้ได้ตามเกณฑ์อยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ระหว่างนี้ใครยังมีข้อจำกัดก็ให้ทำให้เรียบร้อยใน 5 ปีก็ได้ อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีการทำโครงการสินเชื่อตามนโยบายรัฐ (PSA) และมีการขอเงินชดเชยค่อนข้างมาก ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดให้ชัดเจน เนื่องจากการจะบังคับใช้ IFRS9 ในแต่ละพอร์ตนั้นมีความแตกต่างกัน” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส. กล่าวว่า การบังคับใช้ IFRS9 ในส่วนของแบงก์รัฐ จะต้องศึกษารายละเอียดอีกค่อนข้างมาก เพราะต้องมีการคาดการณ์โอกาสที่จะเป็นหนี้ค้างชำระอย่างละเอียดรายพอร์ต ซึ่งแต่ละพอร์ตก็จะแตกต่างกัน และแต่ละ SFIs ก็มีพฤติกรรมและผลกระทบที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ทุกธนาคารก็ต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่ละแบงก์มีความกังวลกันมากในจุดนี้

อย่างไรก็ดี ธ.ก.ส.ก็ได้มีความเตรียมพร้อมในเรื่องดังกล่าวไว้ โดยตั้งสำรองตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้อยู่แล้ว แถมยังมีการตั้งสำรองตามเกณฑ์คุณภาพด้วย อย่างในโครงการพักหนี้เกษตรกร เป็นต้น

“ในโครงการพักหนี้ก็ดูตามพอร์ต ถ้าพอร์ตไหนมีลูกค้าชั้นปานกลางลงไปชั้นที่ค่อนข้างต่ำก็จะตั้งสำรองเยอะขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สิ่งที่จะส่งผลกระทบในอนาคตจากการใช้มาตรฐาน IFRS9 คือ ค่าความน่าจะเป็นที่ลูกหนี้จะผิดนัดชําระหนี้ที่ต้องดูข้อมูลย้อนหลัง 60 งวด ซึ่งกรณี ธ.ก.ส.หมายถึงระยะเวลาถึง 60 ปี เพราะเป็นงวดชำระเป็นรายปี ทำให้ข้อมูลธนาคารจะน้อยกว่าแบงก์อื่น นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งต้องใส่ในการคาดการณ์ด้วย

ขณะที่นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวถึงผลดำเนินการของ ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 2561 ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2562 ว่า ปีนี้ ธ.ก.ส.อาจจะมีกำไรสุทธิลดลงเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารมีการดำเนินงานหลายโครงการที่ช่วยให้ลูกค้าผ่อนคลายเรื่องภาระดอกเบี้ย ซึ่งมีลูกค้าได้ประโยชน์ไปถึง 3 ล้านราย

“คาดว่ากำไรปีนี้จะอยู่ที่ราว 8,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไรกว่า 9,000 ล้านบาท” นายอภิรมย์กล่าว

ขณะที่สินเชื่อปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 85,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะโต 93,000 ล้านบาท เพราะได้รับผลกระทบจากโครงการพักหนี้ และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่าจะอยู่ที่ 4% จากปัจจุบันที่ 4.3% เพราะลูกค้ายังมีวินัยทางการเงินที่ดี

นายอภิรมย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับปีบัญชี 2562 ที่จะเริ่มวันที่ 1 เม.ย.2562-31 มี.ค.2563 นั้น ธนาคารตั้งเป้ารักษาระดับ NPL ไว้ที่ระดับ 4% และตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 95,000 ล้านบาท