RATCH ลุยลงทุนนอกโรงไฟฟ้า ประเดิมดิจิทัลพาร์ค-ระบบราง-สื่อสาร

ราชบุรีโฮลดิ้งลุย EEC เล็งซื้อซอง TOR ประมูลดิจิทัลพาร์ค “EECd” พร้อมปรับสัดส่วนการลงทุนต่างประเทศและในประเทศเป็น 50 : 50 ปรับลดสัดส่วนธุรกิจไฟฟ้าเบนเข็มสู่ธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบราง น้ำประปา สื่อสาร หวังไปสู่สมาร์ทกริด สมาร์ทซิตี้

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากประเมินทิศธุรกิจและเทรนด์โลกจำเป็นต้องพึ่งพาธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่แค่ไฟฟ้าเท่านั้น จึงปรับสัดส่วนรายได้ธุรกิจไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลักสัดส่วนรายได้หลัก 80-90% ลง และเริ่มทยอยเพิ่มการลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบบราง น้ำประปา สื่อสาร ท่าเรือ สนามบิน รวมถึงธุรกิจต้นน้ำของธุรกิจโรงไฟฟ้าโดยการบริหารจัดการอย่างเชื้อเพลิง

ส่วนรูปแบบการลงทุนจะเน้นจับมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อให้ได้มีผลตอบแทนที่ดีที่สุด เบื้องต้นตั้งเป้าตัวเลข 2 หลัก เช่นเดียวกับการลงทุนในต่างประเทศที่ปรับสัดส่วนให้เพิ่มขึ้น ที่ต้องจับมือกับพาร์ตเนอร์ท้องถิ่นเพื่อให้ง่ายต่อการประเมินความเสี่ยง กฎระเบียบ กฎหมายภาษี และต้องเชี่ยวชาญกับโครงการนั้น ร่วมงานกับทางราชบุรีฯได้ แต่จะพยายามถือหุ้นมาให้เกิน 50%

ล่าสุดได้ศึกษาโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล Digital Park Thailand หรือ EECd จ.ชลบุรี ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) บรรจุเป็นหนึ่งในโครงการที่จะเปิดให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐ (PPP) ซึ่งหากเปิดขายซอง TOR ทางบริษัทพร้อมซื้อซอง โดยหวังจะเข้าไปบริหารจัดการด้านไฟฟ้าในดิจิทัลพาร์คนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นรายละเอียดของ TOR แล้ว จากนั้นจะระบุให้ชัดเจนว่าจะเข้าไปสนับสนุนงานส่วนใดบ้าง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องจับมือกับพันธมิตร และด้วยเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก

“ที่เราเริ่มหันมาขยายไปสู่ธุรกิจอื่นนอกเหนือจากธุรกิจไฟฟ้า เพราะเราเห็นเทรนด์ของโลก ในส่วนของตัวธุรกิจนอกเหนือจากไฟฟ้าก็คือ สาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบด้านการขนส่งระบบรางซึ่งมีศักยภาพ และอนาคตเรื่องของระบบสื่อสารที่มันจะสามารถช่วยให้การบริหารจัดการทางด้านธุรกิจพลังงานมันดีขึ้น เพราะต่อไปมันต้องร่วมกัน เป็นสมาร์ทกริด สมาร์ทซิตี้ เราเลยต้องดูว่าโอกาสที่จะขยายออกไปได้เป็นกลยุทธ์ที่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น”

นายกิจจากล่าวว่า แผนลงทุนในปี 2562 เตรียมเม็ดเงินไว้ 20,000 ล้านบาท เพิ่มกำลังผลิตให้ได้ตามเป้าที่ 8,960 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 7,639.12 เมกะวัตต์ โดยในส่วนการลงทุนในประเทศตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2018 ซึ่งจะมีการประมูลโรงไฟฟ้า IPP และ SPP ในภาคตะวันตกทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุสัญญา

“โรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอร์ยี้ จ.ราชบุรี กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะหมดอายุสัญญาเดือนกรกฎาคม 2563 ทางบริษัท พร้อมเข้าร่วมประมูล โดยขณะนี้รอความชัดเจนจากกระทรวงพลังงานคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีนี้ แต่หากยังไม่มีข้อสรุปหรือไม่สามารถก่อสร้างได้ตามกำหนดก็ยังคงยืนยันกำลังการผลิตไฟฟ้าในภาคตะวันตกที่กว่า 5,000 เมกะวัตต์ เพียงพอรองรับความต้องการใช้ไฟภาคตะวันตกประมาณ 3,000 เมกะวัตต์”

นอกจากนี้บริษัทยังสนใจลงทุนโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนต่าง ๆ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีแผนจะลงทุนอีกกว่า 2,700 เมกะวัตต์ด้วย

ส่วนการลงทุนต่างประเทศใหม่ในโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก และพลังงานทดแทน ประเภท greenfield หรือ brownfield ลงทุนระบบโครงข่ายสื่อสารคมนาคมขนส่งระบบราง ลงทุนพลังงานลม พลังงานน้ำ และแสงอาทิตย์ ซึ่งแต่ละปีเตรียมเงินลงทุนประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าจะเจรจากับพันธมิตร โดยบริษัทเตรียมกู้เงินจากสถาบันการเงิน 3,000-5,000 ล้านบาท ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อจ่ายเงินปันผลเนื่องจากเงินสดในมือ 9,000 ล้านบาทเตรียมไว้สำหรับลงทุน และจ่ายหนี้คืน

อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะมีการขายไฟเข้าสู่ระบบ (COD) โรงไฟฟ้า 3 แห่ง คือ 1.โรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น กำลังผลิตติดตั้ง 99.23 เมกะวัตต์ ในประเทศไทย 2.โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คอลลินส์วิลล์ กำลังผลิตติดตั้ง 42.5 เมกะวัตต์ ในออสเตรเลีย 3.โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย กำลังผลิตติดตั้ง 102.5 เมกะวัตต์ ใน สปป.ลาว โดยขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรัฐวิสาหกิจลาว ต่อประเด็นความคืบหน้าในการแก้ปัญหาโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย ภายหลังจากเกิดเหตุสันเขื่อนดินย่อยส่วน D แตก เนื่องจากปริมาณน้ำมากเกินกำหนด หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้มวลน้ำราว 600 ล้านลูกบาศก์เมตร จนน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนใน สปป.ลาวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมานั้น นายกิจจากล่าวว่า ขณะนี้รอผลสรุปจากฝั่งรัฐบาลลาวว่าเสียหายในส่วนใด แผนงานการฟื้นฟูทางเทคนิค ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อยู่ระหว่างการพิจารณาของทางรัฐบาลลาวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเดินหน้าแผนการ COD ไฟในปีนี้ โดยขณะนี้งานก่อสร้างและติดตั้งกังหันพลังน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 4 ชุด ก้าวหน้าไป 94%

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานปี 2561 บริษัทมีรายได้รวม 45,083.54 ล้านบาท กำไร 5,587.60 ล้านบาท ลดลง 7.5% จากปี 2560 โดยรายได้มาจากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงิน 62.4% ส่วนแบ่งจากกิจการที่ควบคุมร่วมกันและเงินปันผล 33.3% และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่น ๆ 4.3%