ครึ่งปีแรกบอนด์ยาวโต38% อสังหาตุนเงิน/หุ้นกู้สั้น-บีอียอดซบ

ThaiBMA เผยยอดออกบอนด์ระยะยาวช่วงครึ่งแรกเติบโตกว่า 38% หลังเอกชนแห่ระดมทุนแล้วกว่า 4.2 แสนล้านบาท แซงหน้าช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้เพียง 3.09 แสนล้านบาท เหตุผู้ประกอบการเลี่ยงออกหุ้นกู้ระยะสั้น-บี/อี เผยกลุ่มอสังหาฯ-พาณิชย์-การเงินและหลักทรัพย์ แห่ระดมทุนสูงสุด ส่วนช่วงครึ่งปีหลังคาดยอดระดมทุนคึกคัก มีลุ้นทะลุเป้า 6 แสนล้านบาท

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) ของภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีแรก (วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย. 2560) พบว่ามีผู้ออกตราสารหนี้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) จำนวน 102 บริษัท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 425,352 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 38% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 309,127 ล้านบาท ที่มีจำนวน 97 บริษัท โดยแบ่งเป็นบริษัทใหม่ 12 บริษัท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกว่า 22 บริษัท

ทั้งนี้ ธุรกิจที่ออกตราสารหนี้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นมูลค่าราว 60,133 ล้านบาท กลุ่มพาณิชย์ 57,120 ล้านบาท กลุ่มการเงินและหลักทรัพย์ 55,935 ล้านบาท

ส่วนตราสารหนี้ระยะสั้น มีมูลค่าการออกรวมประมาณ 393,079 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 10% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 436,533 ล้านบาท โดยจากข้อมูลจะเห็นได้ว่า หุ้นกู้ระยะสั้นได้ปรับตัวลดลงมากที่สุด โดยเหลือเพียง 79,401 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ 139,103 ล้านบาท ส่วนในด้านตั๋วแลกเงินระยะสั้น (ตั๋วบี/อี) แม้จะมีประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ของบางบริษัท แต่กลับพบว่ามีมูลค่าการออกกว่า 311,629 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 297,430 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในแง่จำนวนผู้ออกลดลงเหลือจำนวน 118 บริษัท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 169 บริษัท

“สาเหตุที่บริษัทเอกชนหันมาระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวเพิ่มมากขึ้นน่าจะมาจากการทำดีลซื้อกิจการ (M&A) ในช่วงที่ผ่านมาที่มีอยู่จำนวนมาก ทำให้หลายบริษัท จำเป็นต้องระดมทุนเตรียมไว้ ประกอบกับผู้ประกอบการบางส่วนหลีกเลี่ยงออกหุ้นกู้ระยะสั้นและตั๋วบี/อี เพราะกังวลผลกระทบจากกรณีการผิดนัดชำระหนี้ (ดีฟอลต์) ของบางบริษัท จึงทำให้หลายคนหันมาออกหุ้นกู้ระยะยาวเพิ่ม” นางสาวอริยากล่าว

สำหรับแนวโน้มการออกหุ้นกู้ระยะยาวในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีผู้มาระดมทุนเพิ่มมากขึ้น จนทำให้มีโอกาสที่มูลค่าการออกปีนี้จะทะลุเป้าหมายที่ระดับ 600,000 ล้านบาท เนื่องจากจะมีการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อชดเชยหุ้นกู้ที่ครบกำหนด (รีไฟแนนซ์) ในช่วงครึ่งปีหลังอีกไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท รวมถึงหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนของกลุ่มแบงก์ที่จะออกมาใหม่เพื่อชดเชยหุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน (ครบกำหนด 5 ปี) อีกไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้เบื้องต้นช่วงครึ่งปีหลังนี้มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะเสนอขายหุ้นกู้ระยะยาวหลายแห่ง เช่น บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่จะเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท หรือผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิ์ไถ่ถอนก่อนกำหนด) ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท โดยจะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้เดิมรุ่น CPALL178A และ/หรือ CPALL248A ระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค. 2560 ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนทั่วไปช่วงวันที่ 16-18 และ 21 ส.ค. 2560 ส่วน บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) เตรียมออกขายหุ้นกู้มูลค่าไม่เกิน 1,500 ล้านบาท อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4.90% ต่อปี โดยคาดเสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ในวันที่ 11-13 ก.ค.นี้