ใช้โมเดลใหม่แก้วิกฤตแล้ง

แฟ้มภาพ

บทบรรณาธิการ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ทำให้ปีนี้ร้อนแล้งรุนแรงกว่าเดิม เพราะแม้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศสิ้นสุดฤดูหนาวเข้าฤดูร้อน เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ แต่ในความเป็นจริงทุกพื้นที่ทั่วประเทศเริ่มร้อนจัดตั้งแต่ยังไม่พ้นฤดูหนาว

ช่วงหน้าร้อน 3 เดือนจากนี้ไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม จึงต้องเผชิญกับภาวะร้อนแล้งหนักกว่าปีก่อน ๆ เนื่องจากฝนทั้งประเทศจะลดน้อยลงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะภาคเหนือ อีสาน และกลาง ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้นกว่าปกติ บวกกับปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยกรมชลประทานรายงานว่า ณ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ 35 แห่ง ใช้การได้ 26,886 ล้าน ลบ.ม. หรือ 57% น้อยกว่าปี 2561

ส่วนน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ มีปริมาณรวม 45,038 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 2561 ที่ 2,270 ล้าน ลบ.ม.เช่นเดียวกัน จึงน่าห่วงว่าหลายพื้นที่จะขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาแล้งซ้ำซาก ท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐทั้งระดับนโยบายและฝ่ายปฏิบัติ

แม้ร้อนแล้งจะเกิดขึ้นตามฤดูกาล แต่ฝนฟ้าและสภาพภูมิอากาศที่นับวันวิกฤตยิ่งขยายวงกว้าง การป้องกันแก้ไขให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลจึงไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีการหรือแนวทางแบบเดิม ๆ ที่ถูกนำมาใช้จึงไม่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงจุด

การรับมือกับภัยแล้งและปัญหาขาดแคลนน้ำหน้าช่วงร้อนปีนี้ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้ทุกฝ่ายมั่นใจได้มากขึ้น

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตน้ำท่วมน้ำแล้งในรอบสิบปีที่ผ่านมา นอกจากปัจจัยความปรวนแปรสภาพภูมิอากาศแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่เล็กที่มักขาด ๆ เกิน ๆ ส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการมีปัญหาแล้งปีนี้หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กฟผ. ฯลฯ จึงต้องบูรณาการทำงานเข้มข้นให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะหน่วยงานในพื้นที่ก็ต้องตื่นตัว เตรียมความพร้อมแก้ปัญหาทั้งสถานการณ์ปกติ และในภาวะฉุกเฉิน ให้ทุกภาคส่วนเชื่อมั่นและวางใจได้ว่า นอกจากต้องพึ่งพาตนเองในการรับมือภัยพิบัติแล้ว การทำงานอย่างขยันขันแข็งของหน่วยงานรัฐ จะเป็นภูมิคุ้มกันวิกฤตแล้ง เป็นกำแพงป้องกันภัยอีกชั้นหนึ่ง