“บิ๊กตู่” กำชับทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำรับมือ “ภัยเเล้ง” โว 4-5 รัฐบาลนี้ งบใช้ในภัยแล้งลดลงมาก

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. เวลา 13.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ถึง สถานการณ์ภัยเเล้ง ที่หลายฝ่ายต่างเป็นห่วงเนื่องจากมีความรุนเเรงมากที่สุดในรอบ 30 ปี รัฐบาลเเละนายกฯ ได้กำชับอย่างไรนั้น

นายกฯ กล่าวว่า ได้มีการกำชับเเละประชุมกันอย่างต่อเนื่องรวมถึงให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานบริหารจัดการน้ำ หน่วยงานเกี่ยวกับน้ำทุกกระทรวง บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เเต่ปัญหาหลักของเราในตอนนี้คือ ปริมาณน้ำต้นทุนที่เก็บไว้อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากบางลำน้ำเเห้งเเล้ว อาทิ ลำน้ำยม เพราะมีการทำนาปังมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการใช้น้ำ รวมไปถึงน้ำที่ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคต่อไปในอนาคต

“ขอให้ฟังคำชี้เเจงของราชการ ดูเเลเเละปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยได้ไหม ตรงส่วนนี้มีคำเเนะนำทั้งหมดอยู่เเล้ว รัฐบาลพยายามส่งเสริม สนับสนุนให้เเก้ไขได้โดยเร็ว ซึ่งคาดว่าภัยเเล้งจะมาเร็วกว่าทุกปี เเละเราได้เตรียมความพร้อม ทั้งด้านประกันภัย ความช่วยเหลือ รวมถึงเราต้องช่วยกันลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงไปให้ได้เพื่อเอาเงินเหล่านั้น ที่มีผลกระทบจากภัยเเล้ง มีการใช้จ่ายมากๆ นั้น มาทำอย่างอื่นเเทน” นายกฯ กล่าวเเละว่า

ช่วง 4-5 ปี งบประมาณที่ใช้ในภัยเเล้งลดลงอย่างมาก เหลือหลักพันล้าน จากเดิมเป็นหมื่นๆ ล้าน โดยปัญหาการจัดการน้ำมีการดำเนินการมาโดยตลอด วันนี้ให้ติดตามรายงานประจำวัน จากเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ให้ติดตามในส่วนของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตร กรมชลประทาน การปล่อยระบายน้ำต่างๆ

“ผมเห็นภาพข่าวในโทรทัศน์จะเห็นว่าลำน้ำยมเเห้งเเล้วตอนนี้ เเห้งเป็นตอนๆ เเละมีการเร่งสูบน้ำเก็บเข้าพื้นที่นาให้มากที่สุด นำมาซึ่งปัญหาการขาดน้ำ แบบนี้ใครก็เเก้ไม่ได้ ถ้าเราไม่เเก้ปัญหา รัฐบาลนี้จัดทำเเผนด้วยการสร้างประตูน้ำ ศึกษาต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าจะไปสร้างเขื่อน เเต่เป็นเรื่องของการหาทางเก็บกักน้ำให้ได้ เเละมีการฟังเสียงประชาชน แต่มันน่าจะมีวิธีการอื่นที่เเก้ไขได้ ไม่งั้นมันจะเเก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ โดยรัฐบาลนี้เน้นย้ำเเล้วว่าไม่อยากสนับสนุนให้ทำนาปังในฤดูกาลนี้ เเละได้ไปขอคำเเนะนำจากเกษตรกร เกษตรอำเภอ ว่าเเนะนำอะไรได้บ้าง วันนี้มีมาตรการรองรับไปหลายอย่างเเล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

นอกจากนี้หากปลูกไปแล้วต้องทำประกันภัยความเสียหาย ส่วนนี้รัฐบาลช่วยอยู่เเล้ว ต่อมาคือการปลูกพืชที่มีตลาด วันนี้ต้องเเก้ปัญหานำเข้าผลิตผลจากชายเเดน ซึ่งจับกุมได้อย่างมากมาย ตนขอเตือนภาคเอกชนที่มีการกักตุนสินค้า เเละลักลอบเข้ามา เมื่อไหร่ที่ยำเข้ามาเเล้วถูกตรวจพบจะโดนโทษสถานหนัก