คุยกับซีอีโอฟู้ดแพนด้า “ตั้งเป้าที่หนึ่งบริการจัดส่งอาหารออนไลน์”

ลฟ์สไตล์การกินดื่มของคนรุ่นใหม่ในช่วง 3-4 ปีมานี้ เปลี่ยนไปในวิถีที่ชื่นชอบเทคโนโลยีที่ประยุกต์เอาความสะดวกสบายมาให้บริการมากขึ้นทุกขณะ ทำให้ธุรกิจบริการส่งอาหารกำลังเป็นดาวเด่นที่เข้ามาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ และแน่นอนว่าเมื่อกำลังเป็นธุรกิจเนื้อหอม การแข่งขันในตลาดก็ดุเดือดเช่นกัน

สำหรับบริษัทผู้ให้บริการจัดส่งอาหารที่ทำตลาดอยู่ในสมรภูมิประเทศไทยเวลานี้ ต้องมีชื่อของ “ฟู้ดแพนด้า” สตาร์ตอัพดาวรุ่งสัญชาติเยอรมันเป็นหนึ่งในนั้น เพราะ“ฟู้ดแพนด้า” ถือเป็นธุรกิจบริการส่งอาหารดิลิเวอรีรายแรกๆ ที่เข้ามาบุกตลาดให้บริการส่งอาหารครบวงจรในประเทศไทย สร้างภาพจำอย่างฉับไว ด้วยโลโก้น่ารัก รูปหมีแพนด้า

ภายหลังการรีแบรนด์ครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2560 ได้เปลี่ยนโลโก้จากรูปแพนด้าครึ่งตัวสีส้ม เป็นแพนด้าหน้ากลมสีชมพู พร้อมกับการเดินหน้าพัฒนาและวางระบบภายในต่างๆ  ตั้งแต่ เทคโนโลยี การเพิ่มจำนวนร้านอาหารพันธมิตร ไปจนถึงการจัดเทรนนิ่งไรเดอร์ (ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร) ให้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งที่รวดเร็วและแม่นยำ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้งานประทับใจที่สุด

โดย “อเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์” ซีอีโอบริษัท ฟู้ดแพนด้า (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพธุรกิจนี้ให้เห็นว่า แม้ตลอด 5 ปี มานี้มีคู่แข่งมีมากขึ้น แต่ทิศทางธุรกิจยังเป็นบวก ในแง่ที่ลูกค้ามีทางเลือกหลากหลายและได้บริการที่ถูกลง และอีกด้านหนึ่งคือทำให้ธุรกิจเองก็ต้องพัฒนาให้เป็นผู้นำเสมอ

อเล็กซานเดอร์ บอกว่า ความท้าทายนี้ทำให้ฟู้ดแพนด้า วางแผนพัฒนาให้เหนือคู่แข่งในตลาด 5 ข้อ สำคัญ คือ 1.ต้องมีร้านคู่ค้าที่ดี อาทิ เป็นร้านที่มีชื่อเสียง และผู้คนชอบจริง 2.การใช้แอพลิเคชั่นฟู้ด แพนด้าต้องราบรื่น ไม่ติดขัด ลูกค้าใช้แล้วมีประสบการณ์ที่ดี 3.การเซอร์วิสต้องดี จัดส่งอาหารรวดเร็ว และต้องมีข้อผิดพลาดน้อย และหากเกิดขึ้นต้องสามารถรับมือแก้ไขอย่างรวดเร็ว 4.มีบุคคลากร และทีมที่มีคุณภาพ 5.โปรโมชั่นที่น่าสนใจและดึงดูดลูกค้า

“เราให้ความสำคัญว่า ลูกค้าต้องเข้าถึงแบรนด์ในแง่บวก คนใช้ฟู้ดแพนด้าแล้วรู้สึกเอ็กซคลูซีฟ ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ราคาสูงเกินจนไม่กล้าใช้บริการ รวมถึงการให้บริการที่ไม่จำกัดแค่กรุงเทพฯอย่างเดียว แต่ในต่างจังหวัดก็ต้องเข้าถึงได้ โดยขณะนี้เราให้บริการทั้งใน เชียงใหม่ ภูเก็ต หัวหิน พัทยา นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรราชธานี และตั้งเป้าเป็นที่หนึ่งในด้านการบริการจัดส่งอาหาร” อเล็กซานเดอร์ ​เฟลเดอร์ ซีอีโอฟู้ด แพนด้า (ประเทศไทย) กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ไตรมาสสุดท้ายปี 2561 ฟู้ด แพนด้า (ประเทศไทย) นอกเหนือจากการให้บริการส่งอาหารแล้ว ได้เปิดโปรเจ็กต์ใหม่ภายใต้ชื่อ “ครัว บาย ฟู้ดแพนด้า” ตั้งอยู่ที่โครงการ The Curve อ่อนนุช ซอย 17 ถือเป็นโครงการนำร่องที่ต้องการสร้าง “ครัวปรุงอาหาร” ลักษณะเป็นคิทเช่น ป๊อปอัพ ให้เกิดขึ้นเพื่อบริการผู้อยู่อาศัยในย่านอ่อนนุช โดยเป็นการบริการแบบดิลิเวอรี่เท่านั้น ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้ผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของฟู้ดแพนด้า

สำหรับคอนเซ็ปต์ของโปรเจ็คต์ครัว คือ การเปิดโอกาสให้ร้านค้า-ผู้ขายที่เลือกมาจากนอกย่านอ่อนนุชได้มาปรุงอาหารในจุดที่เป็นครัวสเตชั่น ที่ฟู้ด แพนด้าจัดให้ในย่านอ่อนนุช ซึ่งจะทำให้ผู้อยู่อาศัยย่านนี้ได้รับทางเลือกเพิ่มมากขึ้นทั้งร้านค้า และการจัดส่งที่รวดเร็ว

“คอนเซ็ปต์หลักของโปรเจ็คต์นี้คือการมีร้านอาหารชื่อดังมาปรุงอาหารโดยใช้พื้นที่ห้องครัวที่จัดสรรโดยฟู้ดแพนด้า ซึ่งอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดสรรพื้นที่ อุปกรณ์เครื่องครัว และการจัดการระบบพื้นฐานให้ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในย่านสวนหลวง พระโขนง และวัฒนา รวมไปถึงเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับร้านอาหารคู่ค้าด้วย”

ทั้งนี้ ซีอีโอฟู้ดแพนด้า ย้ำว่า การจัดส่งที่รวดเร็วคือหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ เช่นเดียวกับการมีพาร์ทเนอร์ที่เป็นร้านอาหารที่ขึ้นชื่อด้านรสชาติ ซึ่งการนำร้านดังๆที่อยู่ในย่านกรุงเทพฯชั้นในมาร่วมในโปรเจ็กต์นี้ได้ จะทำให้ผู้อยู่อาศัยย่านอ่อนนุชได้รับทางเลือกที่สะดวกสบายมากขึ้น และการจัดส่งอาหารก็ยังรวดเร็วมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกันร้านค้าที่เสมือนเป็นคู่ค้ากับฟู้ดแพนด้า ก็จะได้ขยายตลาดด้วย โดยคู่ค้าหรือร้านอาหารไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่จะเป็นการแบ่งเปอร์เซนต์การขายให้แก่ฟู้ดแพนด้าเท่านั้น

-ใช้เกณฑ์อะไรคัดเลือกร้านค้าที่มาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์

เรามี 3 ปัจจัยหลักในการพิจารณา คือ 1.ดูดาต้าแต่ละย่านมีความต้องการสูงในอาหารประเภทใด แต่ยังขาดอยู่มากหรือไม่ เราก็จะทำการเลือกคัดสรรมา 2.พิจารณาเรื่องโอเปอเรชั่นว่าทำอาหารรวดเร็วหรือไม่ 3.ร้านเหล่านั้นขึ้นชื่อเรื่องรสชาติหรือไม่

สำหรับร้านที่คัดเลือกมาตอนนี้มี 7 ร้าน มีทั้งเป็นแบบสตรีทฟู้ด และ ร้านมีชื่อเสียง ได้แก่ คาลิเม็กซ์ เดรส ฮันเตอร์ โป๊ะเกะ ข้าวขาหมูเหม่งจ๋าย ร้านเอลวิสสุกี้ ยอดผัดไท และ โกวนัน ซึ่งการเลือกร้านเหล่านี้มาเพื่อเปรียบเทียบว่าคนในพื้นที่ตอบสนองให้ความสนใจอาหารแบบไหนมากกว่ากัน ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในอนาคตหากขยายโปรเจ็กต์ ครัว บาย ฟู้ดแพนด้า ในพื้นที่เขตอื่นๆในกรุงเทพฯที่มีลักษณะการเติบโตคล้ายที่อ่อนนุช

-โปรเจ็กต์ครัว บาย ฟู้ดแพนด้า มีต้นแบบจากไหน ทำไมเลือกใช้ที่อ่อนนุช ?

ต้นแบบมาจากกรุงเบอร์ลิน ที่นั่นประสบความสำเร็จมาก เช่นเดียวกับในสิงคโปร์ ที่เป็นประเทศแรกในเอเชียที่เราเริ่มใช้โมเดลนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ประสบความสำเร็จเหมือนกัน เพราะเป็นโปรเจ็กต์ที่เน้นให้เกิด win-win สำหรับทุกคน ตั้งแต่ร้านอาหารที่มาเป็นคู่ค้าได้โปรโมท และมีผู้มาชิมอาหารของเขามากขึ้นในพื้นที่ที่เข้าไม่ถึง ส่วนลูกค้าก็แฮปปี้ได้ลองชิมอาหารที่ไม่มีขายในย่านนั้น

อย่างไรก็ตามวิธีการจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องรู้ว่าจุดอ่อน จุดแข็งของแต่ละประเทศคืออะไร โดยโมเดลครัว ที่สิงคโปร์ จะมีการปรับให้มีที่เข้ามานั่งรับประทานอาหารได้ด้วย แต่ที่เมืองไทยเราตระหนักว่ามีสตรีทฟู้ดเยอะ มีตัวเลือกร้านอาหารมากกว่า จึงโฟกัสการทำเดลิเวอรี่อย่างเดียว และนำสตรีทฟู้ดเข้ามาอยู่ในโปรเจ็กต์ครัวด้วย

สำหรับในกรุงเทพฯ เป็นเมืองพื้นที่กว้างใหญ่ เราพิจารณาเห็นว่าบางเขตร้านอาหารที่มีผู้นิยมไม่ได้ขยายสาขาหรือเปิดได้ทั่วถึง เมื่อสำรวจข้อมูลเราพบว่าย่านอ่อนนุชมีความต้องการสูง แต่ร้านมาไม่ถึง ซึ่งตรงคอนเซ็ปต์ “ครัว บายฟู้ดแพนด้า” จึงเริ่มเปิดบริการที่อ่อนนุชก่อน โดยเลือกร้านอาหารจากฐานข้อมูลออนไลน์ของเรา ดูว่าร้านไหนที่ติดอันดับขายดี แล้วเชิญให้ร้านเหล่านั้นมาเปิดขายที่ย่านอ่อนนุช ทั้งนี้ ฟู้ด แพนด้า เป็นฝ่ายซัพพอร์ทเตรียมสถานที่ปรุงอาหารไว้ให้ โอเปอเรเตอร์ให้ทุกอย่าง และจัดส่งถึงผู้รับได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

“จากดาต้าผมพบว่าคนอ่อนนุชอยากกินสุกี้เอลวิส หรือร้านอาหารย่านเยาวราช แต่เมื่อไม่มีขายในอ่อนนุช การสั่งให้มาส่งอ่อนนุชก็ต้องใช้เวลา กว่าจะมาถึง 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง ดังนั้นโปรเจ็กต์ครัว บาย ฟู้ด แพนด้า จึงตอบโจทย์ เราไปเจรจาดึงร้านอาหารมาปรุงในสถานที่ที่เราซัพพอร์ทให้ย่านอ่อนนุช และเราจัดส่งให้คนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วเท่าที่จะเร็วได้แบบกำหนดเวลาได้เลย และอาหารยังสดใหม่ โปรเจ็กต์นี้จึงเป็นการรวมสองอย่างทั้งร้านค้าพาร์ทเนอร์ และตอบสนองพื้นที่ของผู้อยู่อาศัยในย่านที่ไม่สามารถเข้าถึงร้านอาหารเหล่านั้นได้ ที่สำคัญคือค่าบริการส่งแบบคงที่ ต่างจากบางแบรนด์ที่สั่งจากที่ไหนก็ได้ แต่คิดราคาตามระยะทาง”

-พื้นที่อ่อนนุชกำลังขยายและเติบโตในแง่ที่อยู่อาศัย นั่นทำให้มีบริการของธุรกิจเดียวกันเข้ามาแข่งขันสูงขึ้นด้วย ประเมินส่วนแบ่งการตลาดในย่านนี้ไว้อย่างไร ?

อ่อนนุชมีจำนวนประชากรที่เราหวังครอบคลุมการให้บริการที่ 4,000-5,000 คน ทั้งนี้ เรายังไม่ได้ประเมินคู่แข่งในย่านนี้ เพราะตอนนี้ต้องการโฟกัสภารกิจของเราที่เน้นให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยในอ่อนนุชก่อนมากกว่า เช่น อยากให้ทุกอย่างราบรื่น โอเปอเรชั่นให้ลูกค้าพอใจ และมีประสิทธิภาพดีก่อน ขั้นต่อไปจะทำการตลาดมากขึ้น

อย่างไรก็ตามตั้งแต่เริ่ม “ครัว บาย ฟู้ดแพนด้า” เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2561 ถือว่าดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราเองมีเป้าที่จะทำใหร้านที่มาเป็นพาร์ทเนอร์ มีตัวเลขรายรับสูงขึ้นตามเป้าคือเดือนละ 400,000-500,000 บาท ต่อร้าน ภายในระยะเวลา 6-12 เดือนหลังจากเปิดตัวโปรเจ็กต์

-ปัจจัยสำคัญหนึ่งของธุรกิจเดลิเวอรี่อาหาร คือความรวดเร็วในการจัดส่ง ฟู้ดแพนด้ามีวิธีการปรับปรุงหรือเพิ่มศักยภาพอย่างไร ?

เราคาดหวังว่าจะพัฒนาให้เร็วเท่าที่จะทำได้ ตอนนี้เวลาเฉลี่ยทั่วไปอยู่ที่ 34 นาที ส่วนร้านค้าในโปรเจ็กต์ครัวที่อ่อนนุชใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาที แผนธุรกิจของเราขณะนี้เน้น การส่งเดลิเวอรี่ในรัศมีการส่ง การเลือกร้านอาหารมาเป็นพาร์ทเนอร์กับเราจึงเน้นเลือกร้านที่เราต้องแน่นอนว่าจะใช้เวลาส่งไม่เกิน 30 นาที เราอยากจะตอบสนองภารกิจของเราที่จะต้องส่งเร็ว และอาหารยังเฟรชให้ได้ที่สุด เป้าหมายสูงสุดเราต้องการให้ลูกค้าพบประสบการณ์ที่เชื่อถือได้ และพึงพอใจทุกครั้ง ไม่ใช่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย

ขณะที่การวางแผนจัดส่งเราพัฒนาและปรับปรุงตลอดเวลา โดยความรวดเร็วในการจัดส่งมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง สำคัญอย่างแรก คือ ไรเดอร์ (ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร) ของเรา ต้องมั่นใจว่าเรามีเพียงพอในชั่วโมงที่พีค และการฝึกอบรมให้พวกเขารู้จักโลเคชั่น นอกจากนี้ต้องพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้เสถียร รวมทั้งต้องทำงานใกล้ชิดกับร้านคู่ค้า อย่างแรก คือ ร้านอาหารเมื่อรับออเดอร์ต้องรีบทำเลย ขณะที่คนส่งออร์เดอร์จากร้านอาหารให้ไรเดอร์ต้องมีประสิทธิภาพ ทำงานรวดเร็ว เพื่อให้การส่งที่เร็วขึ้นแม้ว่าจะแค่ 1-2 นาทีก็ตาม และ สุดท้ายต้องใช้วิธีเพิ่มร้านค้าในพื้นที่ในเขตนั้นให้มากขึ้นจะทำให้เวลาในการจัดส่งสั้นลง

-ภาพรวมธุรกิจของฟู้ดแพนด้า ตั้งเป้าไตรมาสแรกปี 2562 ในการเพิ่มผู้ใช้บริการฟู้ดแพนด้าอีกเท่าไหร่?

ประเมินว่าโปรเจ็กต์ครัว ยังไม่ส่งผลในการเพิ่มยอดผู้ใช้ในไตรมาสแรก เพราะตัวธุรกิจหลักเรายังทำเช่นเดิม ซึ่งครัวเข้ามาเป็นส่วนขยายเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ได้มุ่งหวังเรื่องเพิ่มผู้ใช้มากนัก แต่ต้องการให้ฟู้ดแพนด้า เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งในไตรมาสแรกปีนี้ตั้งเป้าให้ผู้ใช้งานแอพลิเคชั่นฟู้ดแพนด้าที่เป็นรายใหม่ ให้แตะที่ระดับ 4 แสน ยูสเซอร์ ขณะที่แผนธุรกิจเราตอนนี้เน้นเพิ่มจำนวนร้านอาหารมาเป็นพาร์ทเนอร์ให้มากขึ้น จากปัจจุบันมี 5,000 กว่าร้านคู่ค้า ต้องการให้เพิ่มขึ้นไปถึง 20,000 ร้านภายในปีนี้  ซึ่งเราก็มีความคาดหวังว่าจะเติบโตได้มากกว่า 100% ในปีนี้


ในยุคที่ผู้คนแสวงหาความสะดวกสบายที่สุด ธุรกิจจัดส่งอาหารจึงเข้ามาตอบโจทย์ได้อย่างดี และ ยิ่งการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ยิ่งได้รับประโยชน์เท่านั้น การสั่งอาหารออนไลน์วันนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพียงแค่ได้ลองสั่ง ลองใช้บริการกันดู แล้วจะรู้ว่าชีวิตง่ายขึ้นมากจริงๆ