ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจปรับตัวต่ำกว่าคาด

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 11-15 มีนาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันจันทร์ (11/3) ที่ระดับ 31.72/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (8/3) ที่ระดับ 31.76/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์ได้รับปัจจัยกดดันหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 20,000 ตำแหน่ง ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2560 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1800,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.8% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงสู่ระดับ 3.9%

นอกจากนี้นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ แต่จะชะลอตัวลงเล็กน้อยเท่านั้น นายพาวเวลยังได้กล่าวปกป้องการดำเนินนโยบายของคณะกรรมการเฟด โดยกล่าวว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใช้แรงกดดันทางการเมืองเพื่อโจมตีเฟดนั้น ไม่มีผลบต่อการตัดสินใจของเฟดในการประชุมเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเฟดได้ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ปรับตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือน ธ.ค. 2561 ลงจากรายงานก่อนหน้าที่ลดลง 1.2% เป็นลดลง 1.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2552 ส่วนในวันอังคาร (12/3) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนในเดือนกุมภาพันธ์ โดยปรับขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบรายปี ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 2ปีครึ่ง นอกจากนี้ในวันพุธ (14/3) กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวขึ้นเพียง 0.1% ในเดือน ก.พ. จาก 0.3% ในเดือนก่อนหน้า เมื่อเทียบรายเดือน น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2%

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ม.ค. จาก 1.3% ในเดือนก่อนหน้า แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.4% นอกจากนี้ในวันพฤหัสบดี (14/3) สำนักข่าวบลูมเบอร์กรายงานว่า จีนและสหรัฐเตรียมเลื่อนการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ออกไปเป็นเดือนหน้า จากเดิมที่มีการคาดการณ์ว่าการประชุมดังกล่าวอาจมีขึ้นในเดือนนี้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.61-31.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (15/3) ที่ระดับ 31.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรนั้น เปิดตลาดในวันจันทร์ (11/3) ที่ระดับ 1.228/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/3) ที่ระดับ 1.1212/15 โดยสำนักงานสถิติเยอรมนีเปิดเผยว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีลดลงอย่างไม่คาดคิดที่ 0.8% ในเดือน ม.ค. ขณะที่เศรษฐกิจของเยอรมนีกำลังได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้า และการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit)

นอกจากนี้ตลาดจับตารัฐสภาอังกฤษซึ่งมีกำหนดลงมติต่อข้อตกลงในการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ในวันอังคาร (12/3) ซึ่งสภามีมติไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าวต่อมาในวันพุธ (13/3) รัฐสภาอังกฤษได้ทำการลงมติ ไม่เห็นชอบต่อการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป โดยไร้ข้อตกลง ต่อมาในวันพฤหัสบดี (14/3) รัฐสภาทำการลงมติด้วยคะแนนเสียง 412-202 เสียง เรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) ขยายกำหนดเวลาการแยกตัวออกไปอีก 3 เดือน หรือจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. จากเดิมในวันที่ 29 มี.ค. ซึ่งรัฐสภาอังกฤษจะต้องทำการเจรจากับ EU ในเรื่องดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะใช้ความพยายามเป็นครั้งที่ 3 ในการยื่นข้อตกลงว่าด้วยการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของรัฐสภาอังกฤษในสัปดาห์หน้า หลังจากที่ประสบความล้มเหลวมาแล้ว 2 ครั้ง คาดว่ารัฐสภาจะมีการลงมติภายในวันที่ 20 มี.ค. ซึ่งเป็น 1 วันก่อนที่สหภาพยุโรป (EU) จะจัดการประชุมสุดยอดในวันที่ 21 มี.ค. ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจ ในวันพุธ (13/3) มีการเปิดเผยตัวเลข ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเดือน ม.ค. ขยายตัวสูงสุดในรอบมากกว่า 1 ปี โดยผลผลิตกลับมาขยายตัว 1.4% เมื่อเทียบเป็นรายเดือนจากหดตัวในเดือนก่อนที่ 0.9% และสูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัวเพียง 1% ในสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1220-1.1341 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/3) ที่ระดับ 1.1319/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดในวันจันทร์ (11/3) ที่ระดับ 110.96/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (8/3) ที่ระดับ 111.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น
(บีโอเจ) อาจจะคงการประเมินสภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ขยายตัวในระดับปานกลาง แต่เตือนถึงปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศในการประชุมทบทวนอัตราดอกเบี้ยในระหว่าง 14-15 มี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าบีโอเจจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ -0.1% ต่อไป

นอกจากนี้ในวันพุธ (13/3) ธนาคารกลางญี่ปุ่นฺ (BOJ) เปิดเผย ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากภาคธุรกิจคลายกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการคาดการณ์ที่ว่า สหรัฐและจีนใกล้จะยุติข้อพิพาททางการค้า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานซึ่งไม่รวมเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมต่อเรือและสาธารณูปโภคของญี่ปุ่นในเดือนมกราคม ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.4 เมื่อเปรียบเทียบรายเดือนซึ่งดัชนีดังกล่าวได้ปรับตัวลงติดต่อกัน 3 เดือน นับเป็นสัญญาณว่าบริษัทต่าง ๆ ของญี่ปุ่นต้องการลดการใช้จ่ายในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 110.86-111.89 เยน/ดอลลาร์สหรับ และปิดตลาดในวันศุกร์ (8/3) ที่ระดับ 111.63/65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ